เตือนแพทย์ห้ามใช้ ‘สารสกัดกัญชา’ ผู้ป่วยจิตเวช-เด็ก หวั่นเพิ่มความเสี่ยง

เตือนแพทย์ห้ามใช้ ‘สารสกัดกัญชา’ ผู้ป่วยจิตเวช-เด็ก หวั่นเพิ่มความเสี่ยง


กรมสุขภาพจิต เตือนบุคลากรทางการแพทย์ อย่าใช้ ‘ยาและสารสกัดกัญชา’ ในผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งเด็กและวัยรุ่น เผยผลการวิจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคจิตเภทเพิ่มเป็น 2 เท่า

ความคืบหน้าและเคลื่อนไหวการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ของไทย ล่าสุด นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวการจัดอบรมเรื่อง “กัญชากับสุขภาพจิต” ในการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 ว่า ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีคำแนะนำเกี่ยวกับกัญชาว่า กัญชามีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ กัญชาไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ยังไม่มีที่ใช้ทางการรักษาโรคทางจิตเวชในขณะนี้ ซึ่งการใช้กัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้ เช่น หลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น

โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น จึงแนะนำบุคคลควรใช้กัญชาหรือสารสกัดตามข้อบ่งชี้ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานรับรองเท่านั้น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลของกัญชาทั้งประโยชน์และโทษ ควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นผลของการใช้กัญชาหรือสารสกัด หรือเป็นผลจากสารสังเคราะห์ และบุคคลทั่วไปที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่ควรใช้กัญชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนและผู้ที่มีโรคทางจิตเวช

นพ.บุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยฯ ยังมีข้อแนะนำมาตรการการลดอันตราย ที่อาจนำมาใช้ผู้ที่ยังไม่พร้อมหยุดใช้กัญชา โดยลดปริมาณกัญชาที่อยู่ในตลาดมืด เพิ่มโอกาสการนำกัญชามาใช้เพื่อการรักษาในทางการแพทย์ ทั้งนี้ ข้อดีในการลดอันตรายที่เกิดจากการใช้กัญชาได้ในประเทศที่มีระบบการควบคุมที่ชัดเจนและสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ 1.การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับกัญชา เช่น ประโยชน์ ความเสี่ยงและแนวทางในการหลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้กัญชา 2.การให้ความรู้ ความเข้าใจถึงรูปแบบ ปริมาณที่เหมาะสม ประโยชน์ และความเสี่ยงสำหรับผู้ที่ใช้กัญชาในแง่การรักษา 3.การแนะนำให้ใช้กัญชาในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การเผาไหม้ เพื่อลดกระทบที่เกิดกับปอด และ 4.ห้ามการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชน และผู้ขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการใช้กัญชา
“การใช้กัญชาอย่างสม่ำเสมอในวัยรุ่น มีความเสี่ยงการเกิดโรคจิตเภทเพิ่มเป็น 2 เท่า ความเสี่ยงจะเพิ่มเมื่อใช้ในอายุน้อย แต่ไม่อาจสรุปได้ว่ากัญชาทำให้เกิดอาการทางจิต อาจเนื่องจากกัญชาไปกระตุ้นให้เกิดอาการในกลุ่มเสี่ยง ในคนปกติอาจเกิดอาการทางจิตชั่วคราวได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง สารซีบีดีที่เป็นสารสำคัญตัวหนึ่งในกัญชา อาจจะใช้รักษาอาการทางจิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเฉพาะ” นพ.บุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พญ.รัศมี สังข์ทอง หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มีการออกเอกสารเผยเพร่ ผลของการใช้กัญชาต่อจิตประสาทในเด็กและเยาวชน โดยระบุว่า เมื่อเสพกัญชาเข้าไปในระยะแรก กัญชาจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพมีการตื่นตัว ตื่นเต้นจากสารทีเอชซี(Tetrahydrocannabinol :THC) แต่เมื่อผ่านไป 1-2 ชั่วโมง กัญชาจะเริ่มออกฤทธิ์กดประสาท มีโอกาสเกิดสมองเสื่อมถาวร หรือเป็นจิตเภท โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนผสมกัญชาที่ต้องตรวจสอบก่อนบริโภค เช่น ลูกอม คุกกี้ เครื่องดื่ม ไอศกรีม ช็อกโกแลต หรือบุหรี่ยัดไส้

อาการที่จะเกิดขึ้นจากการเสพ คือ อารมณ์อ่อนไหว เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ร่าเริงผิดปกติ รู้สึกกังวล กลัว ไม่กล้าไว้ใจใคร ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย ดุร้ายผิดปกติ มองเห็นภาพหลอน ควบคุมตัวเองไม่ได้ นำไปสู่ อุบัติเหตุ ปัญหาการเรียน ผลการเรียนตกต่ำ ขาดสมาธิในการเรียน ความสามารถในการเรียนรู้แย่ลงและมีปัญหาสุขภาพจิตหรือวิกลจริต

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ราชกิจจาฯ ประกาศตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา” เริ่ม 2 พ.ค.นี้