“ศรีสุวรรณ”ค้าน “เครือปูน”ทำเหมืองในป่า”มวกเหล็ก”

“ศรีสุวรรณ”ค้าน “เครือปูน”ทำเหมืองในป่า”มวกเหล็ก”


“ศรีสุวรรณ”ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาลอนุมัติให้เครือซีเมนต์ไทยทำเหมืองในป่าสงวนทับกวาง-มวกเหล็กถึง 18 ปี และเรียกร้องให้กลับไปทบทวนมติใหม่ ไม่เช่นนั้นจะฟ้องศาลปกครอง

6 มี.ค. 62 – นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่อง “คัดค้านมติอัปยศอนุมัติทำเหมืองในป่าสงวนทับกวาง-มวกเหล็ก” ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี รวมเนื้อที่ 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา (พื้นที่ประทานบัตร 15 แปลง มีเนื้อที่รวม 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอนั้น

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีในอดีตเมื่อ 12 ตุลาคม 2519 เคยกำหนดห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาดทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร ยกเว้นจะผ่อนผันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น การก่อสร้างเส้นทางเพื่อความมั่นคงเท่านั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และระบุด้วยว่าไปจะไม่อนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อีกไม่ว่ากรณีใด

แต่การที่คณะรัฐมนตรีถืออำนาจอนุมัติพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไปให้กับกลุ่มทุนบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันไปกว่า 3 พันไร่ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้นั้น จะให้ประชาชนแปรความหมายการอนุมัติเรื่องนี้ไว้เช่นใด ทั้งๆ ที่ในอดีตหากจะมีการขอผ่อนผันก็จะอนุญาตให้ไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับประเคนให้ถึง 18 ปีอย่างง่ายดาย แต่เวลาชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเห็ด เก็บผักหวานในพื้นที่ป่าบ้าง กลับต้องถูกจับขังคุก ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของใครกันแน่ และที่สำคัญการใช้อำนาจดังกล่าวส่อที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 53 มาตรา 57 และมาตรา 63 ประกอบ มาตรา 17 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2559 ที่กําหนดให้การทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับน้ำซึมโดยเด็ดขาด

กรณีดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรีขอให้ทบทวนมติอัปยศดังกล่าวเสีย หากยังมีจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง หาไม่เช่นนั้นแล้วสมาคมฯ และชาวบ้านจำเป็นต้องหันไปพึงบารมีของศาลปกครองต่อไป.