กมธ.แจง พ.ร.บ.ข้าวเข้า สนช.พรุ่งนี้ยัน ไม่กระทบวิถีชาวนา

กมธ.แจง พ.ร.บ.ข้าวเข้า สนช.พรุ่งนี้ยัน ไม่กระทบวิถีชาวนา

พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. …. เปิดแถลงถึงการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว ว่า หลักการของร่างพ.ร.บ.ข้าว มุ่งเน้น ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวนา

การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกภาครัฐ ในการขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริม พัฒนาชาวนา รวมถึงภาคการผลิตและภาคการตลาดให้มีความเข้มแข็ง ให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพ มีมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวันพรุ่งนี้(26 ก.พ.)

พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ รองประธานคณะกมธ.ฯ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวล ประเด็นห้ามจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับรองพันธุ์ ขอเรียนว่าเมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้วยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ ไม่ได้มีการบังคับหรือควบคุมใดๆทั้งสิ้นตามที่หลายฝ่ายห่วงใย นักวิชาการ หรือ นักพัฒนาพันธุ์ข้าวก็ยังดำเนินการได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ภาครัฐจะส่งเสริม สนับสนุนให้มีการรับรองพันธุ์ข้าว เพื่อให้เราได้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับวิถีชีวิตใดๆ ของชาวนา ยังคงค้าขายทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เช่นเดิม

ทั้งนี้ ทางคณะกมธ.ได้แจกเอกสารชี้แจงข้อร้องเรียนของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกรณีโรงสีจะรับซื้อข้าวเฉพาะที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าวเท่านั้น ซึ่งทางกมธ.ได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นความเป็นจริง และระบุด้วยว่าพ.ร.บ.ข้าวไม่ได้เป็นการควบคุมระบบพันธุ์ข้าวของประเทศโดยรวมผ่านการออกใบรับซื้อข้าวเปลือก ตามที่มาตรา 20 กำหนดไว้

“การออกใบรับซื้อจึงไม่เกิดผลกระทบต่อกลไกการซื้อขายข้าวเปลือก การซื้อขายยังคงเป็นไปตามปกติ และไม่มีเหตุผลที่โรงสีจะปฏิเสธการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา” เอกสารชี้แจง ระบุ

สำหรับการจัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวทั้งประเทศ หรือการปลูกข้าวแบบโซนนิ่งนั้น กฎหมายยังคงกำหนดให้ทำโซนนิ่ง แต่ให้ภาครัฐสามารถเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าว และพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ความคุ้มค่าสูงสุดทางเศรษฐกิจ ภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และต้องไม่เป็นการขัดขวางหรือมีผลกระทบการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามวัฒนธรรมหรือวิถีชุมชน เกษตรกรรมพื้นบ้าน แบบแผนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ หรือ ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ข้าว