โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) คือ โรคที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้อาหารขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ตอนที่ไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม
1. อย่ากินมากเกินไป
ควรแบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หกมื้อต่อวัน หรืออาหารหลักสามมื้อเล็กๆ และอาหารเสริมอีกสามมื้อก็ได้ จะช่วยป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป ทำให้ลดอาการแสบร้อนยอดอกได้เป็นอย่างดี
2. อย่ากินเร็วเกินไป
เมื่อเรากินเร็วเกินไป เคี้ยวน้อยลง ทำให้ระบบทางเดินอาหารของเราต้องทำงานหนักมากขึ้น แถมประสิทธิภาพก็ลดลง ทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดท้องอืด และกรดไหลย้อนตามมาได้
ดังนั้น ควรกินคำให้เล็กลงและเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน โดยการเคี้ยวอาหาร 20 ครั้ง หรือนับให้ถึง 20 ครั้งก่อนที่จะกินคำถัดไป
3. ไม่กินอาหารที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน
เพราะอาหารมีอิทธิพลมากกว่าที่คุณคิด อาหารที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. อาหารที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวในเวลาที่ไม่ควร
• อาหารทอด อาหารมันๆ
• เนื้อติดมันมาก
• ซอสครีม
• ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมันเนย
• ช็อคโกแลต
• เปปเปอร์มินต์
• เครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม กาแฟ ชา โกโก้
2. อาหารที่ทำให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไป
• เครื่องดื่มมีคาเฟอีน
• น้ำอัดลม
• แอลกอฮอล์
• อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น
• พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ เป็นต้น
4. ควรเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อต้องออกไปกินข้าวนอกบ้าน
ไม่ว่าจะกินข้าวที่บ้าน หรือนอกบ้านก็ตาม การปฏิบัติตัวไม่ให้เกิดกรดไหลย้อนก็ควรจะเหมือนเดิม เลือกรับประทานอาหารที่ไม่กระตุ้นให้กรดไหลย้อนเพิ่ม รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆ ที่สำคัญ คือ อย่ารับประทานมากจนเกินไป เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนด้วย หากเรารู้ว่าสิ่งใดควรทำ และควรหลีกลี่ยงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เราก็จะรับมือกับกรดไหลย้อนได้อย่างแน่นอน
5. อย่าเข้านอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จใหม่ๆ
การล้มตัวลงนอนในขณะที่กระเพาะอาหารยังเต็มแน่นไปด้วยอาหาร เป็นการทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างถูกดันให้คลายตัว ส่งผลให้อาหารและกรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นไป หลังจากนั้นก็จะเกิดอาการกรดไหลย้อนต่างๆ ตามมา
ทางที่ดีควรรออย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมงหลังกินข้าวก่อนจะเข้านอน พยายามหลีกเลี่ยงขนมมื้อดึก และหากวันไหนจำเป็นต้องกินของหนักๆ หรืออาหารมื้อใหญ่ ควรเลือกให้เป็นมื้อกลางวันมากกว่ามื้อเย็น
6. อย่านอนหงายราบเวลานอน
เมื่อรู้สึกไม่ค่อยดี มีอาการของกรดไหลย้อน ไม่ควรนอนหงายราบไปกับเตียง เพราะอาหารในกระเพาะจะกดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้กรดไหลย้อนกลับเพิ่มขึ้นมา ซึ่งการนอนหัวสูงจะช่วยลดแรงกดดังกล่าวได้
วิธีการนอนหัวสูง
• วางก้อนอิฐ หิน หรืออะไรก็ตามที่แข็งแรงมั่นคงรองขาเตียงฝั่งหัวนอน
• ใช้หมอนรูปลิ่มหนุนหัวและไหล่
• หมายเหตุ: อย่ายกหัวให้สูงขึ้นโดยการเอาหมอนรองเท่านั้น เพราะจะยิ่งทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น และไม่ช่วยลดอาการกรดไหลย้อนด้วย
7. ไม่สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย และกรดไหลย้อนก็เป็นหนึ่งในปัญหานั้น เพราะสารบางตัวในบุหรี่เพิ่มโอกาสในการเป็นกรดไหลย้อนได้โดยกลไก ดังนี้
ลดการสร้างน้ำลาย การสูบบุหรี่ลดการสร้างน้ำลาย ซึ่งน้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่างและช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ เมื่อเรากลืนน้ำลายลงคอก็จะการชะล้างกรดในกระเพาะที่ไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารให้กลับเข้าสู่กระเพาะเหมือนเดิม
เพิ่มกรดในกระเพาะ การสูบบุหรี่เพิ่มการสร้างกรดในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ยังอาจกระตุ้นให้เกลือน้ำดี (bile salt) จากลำไส้มายังกระเพาะอาหาร ส่งเสริมให้กรดในกระเพาะอาหารก่ออันตรายได้มากขึ้น
ทำให้การทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างแย่ลง การสูบบุหรี่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอและคลายตัวผิดปกติ ปกติหูรูดจะเป็นทางกั้นรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หากหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำงานได้ไม่ดี หรือคลายตัวในเวลาที่ไม่เหมาะสม อาหารในกระเพาะอาหารจะท้นกลับไปในหลอดอาหารได้
การสูบบุหรี่จะทำอันตรายต่อหลอดอาหารโดยตรง ยิ่งกว่าที่ความเสียหายจากกรดไหลย้อนเสียอีก
8. อย่าดื่มหนักเกินไป
แอลกอฮอล์เพิ่มปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว หากต้องการดื่มแอลกอฮอล์บ้างในงานเลี้ยงฉลอง สามารถเลือกวิธีต่อไปนี้ได้ เลือกเบียร์ หรือไวน์ชนิดปราศจากแอลกอฮอล์ จำกัดการดื่มไว้ที่เหล้าผสมไม่เกินหนึ่งถึงสองแก้ว ไวน์ไม่เกินสิบหกออนซ์ และเบียร์ไม่เกินสามแก้ว ดื่มไวน์ขาวแทนไวน์แดง เจือจางเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยน้ำหรือโซดา สังเกตว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดที่ทำให้มีอาการกรดไหลย้อน และหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หมายเหตุ: เมื่อทราบแล้วว่าแอลกอฮอล์มีโทษต่อโรคกรดไหลย้อนมากกว่าประโยชน์ หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยง หรือดื่มให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้จะดีกว่า
9. อย่าใส่เสื้อผ้าที่แน่นเกินไป
การแต่งกายด้วยเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่รัดแน่นบริเวณท้อง เช่น เข็มขัด หรือสายรัดเอว อาจบีบกระเพาะให้ดันอาหารและกรดผ่านหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้
10. อย่าเครียดเกิดไป
ความเครียดส่งผลให้กระเพาะ ลำไส้ และหลอดอาหารทำงานน้อยลง แต่มีการหลั่งกรดมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เป็นกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น เช่น กินข้าวไม่ตรงเวลา กินอาหารดึกๆ กินเสร็จแล้วนอนทันที หรือไม่มีเวลาออกกำลังกาย เป็นต้น ทางที่ดีควรหากิจกรรมทำผ่อนคลายความเครียดบ้าง เช่น นอนหลับ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือที่ชอบ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และลดความเครียดได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยให้คุณห่างไกลจากกรดไหลย้อนได้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งสิบวิธีที่กล่าวไป หากนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการตนเองเป็นประจำ ก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรค และลดการกลับมาเป็นซ้ำของกรดไหลย้อนบ่อยๆ อีกด้วย แต่หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น รับประทานยาลดกรดแล้วไม่หาย แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจ ประเมินร่างกาย และรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด