ขับถ่ายเป็นเลือด ภัยเงียบ อันตรายมากกว่าที่คิด

ขับถ่ายเป็นเลือด ภัยเงียบ อันตรายมากกว่าที่คิด

การขับถ่าย เรื่องปกติที่ทุกคนต้องทำเป็นกิจวัตร แต่ความเป็นจริงแล้วอาจมีอันตรายแอบแฝงอยู่ ซึ่งหากพบความผิดปกติ บางอย่างเช่น พบเลือดที่ปนมากับอุจจาระ ร่วมกับมีอาการเจ็บที่บริเวณรูทวารหรือปวดท้องร่วมอยู่ด้วย อาจเป็นภัยเงียบที่นำไปสู่โรคร้ายได้

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้าน ระบบทางเดินอาหารและตับโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลกล่าวว่า อันตรายที่มาจากการขับถ่ายเป็นเลือด ( Hematochezia หรือ Rectal Bleeding ) สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่

– จากทางเดินอาหารส่วนต้น

– จากทางเดินอาหารส่วนกลาง

– จากทางเดินอาหารส่วนปลาย

 

อาการที่เกิดขึ้น

โดยภาวะเลือดออกช่วงแรก จะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดง เมื่อเลือดออกมาสักพัก ก็จะใช้เวลาหรือมีการทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะ เลือดสีแดงจะมีการเปลี่ยนสีกลายเป็นสีดำ ดังนั้นถ้าสมมุติว่าเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนต้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นเลือดสีดำ และสำหรับโรคที่ตามมาในเรื่องของเลือดออกในทางเดินระบบอาหาร ต้องแบ่งออกเป็นแต่ละส่วนของทางเดินระบบอาหารว่าเป็นส่วนไหน เช่น

1. ทางเดินอาหารส่วนต้น ปัญหาเลือดออกส่วนใหญ่มักจะมาจากเรื่องของการอักเสบหรือว่าการเป็นแผลในกระเพาะ ซึ่งการเป็นแผลในกระเพาะ สามารถนำมาซึ่งกระเพาะอาหารทะลุได้รวมถึงปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำหรับทางเดินอาหารส่วนต้นที่ต้องคอยเฝ้าระวัง คือเรื่องมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งในปัจจุบัน มีสัดส่วนคนไข้ที่เป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ
2. ทางเดินอาหารส่วนปลาย ปัญหาที่เจอได้บ่อยที่สุด ในเรื่องทางเดินอาหารส่วนปลายที่มีเลือดออกก็คือ ภาวะเลือดออกจากริดสีดวงทวาร แต่ในขณะเดียวกัน ต้องคอยเฝ้าระวัง ปัญหาเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนปลายที่เป็นอันตรายได้ อาทิ มะเร็งในลำไส้ใหญ่ ภาวะดังกล่าวนี้ การคัดกรองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมะเร็งกระเพาะอาหารหรือมะเร็งในลำไส้ใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญเพราะปัญหาดังกล่าว สามารถพบได้ในระยะต้นของโรค ก็สามารถรักษาได้

ความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นมะเร็ง

นอกจากนี้สัญญาณเตือนที่ทำให้ คนไข้มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหารนั้นจะไม่มีอาการอะไรเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่แล้ว คนไข้จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคเป็นค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนไข้หลายๆ คน ควรเข้ารับการคัดกรองมะเร็งในทางเดินอาหาร การคัดกรองจะทำใน กรณีที่หนึ่งคือมีอายุเกิน 50 ปี กรณีที่สองคือมีอาการบางอย่างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทางเดินอาหาร เช่น น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ , ถ่ายอุจจาระออกมาแล้วมีเลือดปน หรือมีอาการปวดท้องเรื้อรัง อาการเหล่านี้ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนสำหรับโรคมะเร็งทางเดินอาหารได้

 

วิธีแก้ไขอาการ

เมื่อเกิดอาการขับถ่ายเป็นเลือด คนไข้สามารถรับประทานยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ หรือควรมาพบแพทย์ทันที เพราะในภาวะเลือดออกบางครั้งผู้ป่วยอาจจะคิดว่าไม่มีภาวะอันตราย แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายร้ายแรงได้ อย่างเช่นโรคมะเร็งในทางเดินอาหารหรือแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งการส่องกล้องเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการถ่ายเป็นเลือด สามารถใช้ได้ทั้งเรื่องของการวินิจฉัยและการรักษาอีกด้วย

 

ขอขอบคุณ : นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้าน ระบบทางเดินอาหารและตับ