สำนักข่าว เอพี/เอเอฟพีรายงานว่า รัฐสภาอังกฤษเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งในวันจันทร์ (18 ก.พ.62) โดยเรียก “เฟซบุ๊ก” ว่าทำตัวเหมือน “แก๊งอันธพาลดิจิทัล” ซึ่งบกพร่องล้มเหลวในการต่อสู้ปราบปรามข่าวปลอมที่แพร่กระจายไปทั่ว รวมทั้งจงใจล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
รายงานฉบับนี้ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยข่าวปลอมและข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ บนเว็บไซต์สื่อสังคม เป็นผลจากการสอบสวนที่ใช้ระยะเวลานาน 18 เดือนของคณะกรรมาธิการสื่อ โดยที่คณะกรรมาธิการชุดนี้เสนอแนะว่าควรต้องบังคับให้พวกเว็บไซต์สื่อสังคมปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ ที่มีหน่วยงานกำกับตรวจสอบที่เป็นอิสระคอยติดตามดูแล เพื่อให้สามารถควบคุมเนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือที่ผิดกฎหมายได้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน
ในรายงานนี้ ได้เรียกร้องเจาะจงเป็นพิเศษไปที่เฟซบุ๊ก ระบุว่ามีหลักฐานที่เฟซบุ๊กเจตนาล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และล่วงละเมิดกฎหมายต่างๆ เพื่อต่อต้านการแข่งขัน
โดยรายงานฉบับนี้ยังกล่าวหาว่า เฟซบุ๊กพยายามที่จะซุกซ่อนอำพรางขนาดขอบเขตของการที่รัสเซียเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งในต่างประเทศครั้งต่างๆ
นอกจากนั้นพวกผู้บริหารของสื่อสังคมยักษ์ใหญ่รายนี้ยังถูกกล่าวหาอีกว่าพยายามปิดปังหรือไม่ก็กลบเกลื่อนหลักฐานที่กำลังปรากฏออกมาเรื่อยๆ ซึ่งชี้ว่า พวกวิศวกรของเฟซบุ๊กนั้นสังเกตเห็นกิจกรรมอันไม่ชอบมาพากลของฝ่ายรัสเซียในเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งในต่างแดนมาเป็นปีแล้ว ก่อนที่เรื่องนี้จะเป็นที่รับทราบของสาธารณชน
ประธานของคณะกรรมาธิการ ดาเมียน คอลลินส์ บอกว่า เฟซบุ๊ก “จงใจหาทางสร้างความท้อแท้ผิดหวังให้แก่การทำงานของเรา ด้วยการให้คำตอบที่ไม่สมบูรณ์, ไม่ตรงไปตรงมา และมุ่งชักจูงไปทางที่ผิดครั้งแล้วครั้งเล่าแก่คำถามของเรา”
รายงานฉบับนี้ยังกล่าวหา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของเว็บไซต์สื่อสังคมใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้ที่ปฏิเสธไม่รับคำเชิญให้มาปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมาธิการชุดนี้ 3 ครั้ง 3 ครา
“บริษัทเฉกเช่นเฟซบุ๊กไม่ควรได้รับอนุญาตให้ประพฤติตนเหมือน “แก๊งอันธพาลดิจิทัล” ในโลกออนไลน์ ซึ่งมองพวกเขาเองว่าอยู่นำหน้าและอยู่เหนือกว่ากฎหมาย” รายงานความยาว 108 หน้าฉบับนี้กล่าว
ทางด้านเฟซบุ๊กแถลงว่า บริษัทมีส่วนร่วมใน “ความห่วงใยของคณะกรรมาธิการชุดนี้เกี่ยวกับข่าวปลอมและความซื่อตรงของการเลือกตั้ง” และเปิดกว้างถ้าหากจะมีการออก “ระเบียบกฎหมายที่มีความหมาย”
“ขณะที่เรายังคงจะต้องทำอะไรกันอีกมากมาย แต่เราก็ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวกันกับที่เราเคยเป็นเมื่อ 1 ปีก่อน เราเพิ่มขนาดทีมงานที่ทำงานด้านการตรวจจับและปกป้องคุ้มครองยูสเซอร์จากเนื้อหาที่แย่ๆ ขึ้นมา 3 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน และลงทุนหนักมากในด้านเครื่องจักรเพื่อการเรียนรู้, ปัญญาประดิษฐ์, และเทคโนโลยีทัศนาของคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดประเภทนี้” คาริม พาแลนต์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะในอังกฤษของเฟซบุ๊กกล่าว
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กและบริษัทอินเทอร์เน็ตอื่นๆ กำลังเผชิญกับการถูกจับตาตรวจสอบเพิ่มขึ้นมาก ในเรื่องวิธีการจัดการยูสเซอร์ รวมทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักที่ไม่ได้ทำอะไรอย่างจริงจังเพื่อหยุดยั้งการใช้แพลตฟอร์มของพวกเขาไปในทางมิชอบโดยมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม อังกฤษกำลังถูกกดดันให้เดินตามตัวอย่างของเยอรมนี และฝรั่งเศส ด้วยการออกกฎเกณฑ์ควบคุมเฟซบุ๊ก ในเรื่องวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลยูสเซอร์ และในเรื่องการต่อสู้ปราบปรามข่าวปลอม
ทั้งนี้ หน่วยงานดูแลเรื่องการแข่งขันของเยอรมนีแถลงในเดือนนี้ว่าจะประกาศข้อจำกัดสำหรับการที่เฟซบุ๊กจะดึงเอาข้อมูลจากสื่อสังคมในเครือของตนอย่างวอตส์แอปป์ และอินสตาแกรม
ส่วนฝรั่งเศสเพิ่งออกกฎหมายหลายฉบับกำหนดให้พวกยักษ์ใหญ่สื่อสังคมต้องนำเอาบรรดาข่าวและรายงานที่มุ่งประสงค์ร้ายทั้งหลายลงจากเว็บไซต์ ในระหว่างที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ข้อมูลข่าว mgronline
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ