บังคับใช้แล้ว! พื้นที่เขตปลอดบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษ

บังคับใช้แล้ว! พื้นที่เขตปลอดบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษ

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 61 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ล่าสุด ประกาศดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 62 ที่ผ่านมา ซึ่งสถานที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. พื้นที่และบริเวณทั้งหมด และระยะ 5 เมตรจากทางเข้า – ออกของสถานที่ เป็นเขตปลอดบุหรี่ คือ
• สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ คลินิก สหคลินิก โรงพยาบาล สถานพยาบาล โรงพยาบาลสัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ สถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสุขภาพทุกประเภท
• สถานศึกษา หรือสถานที่เพื่อการเรียนรู้และฝึกอบรม ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน สถานศึกษาระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา สถานกวดวิชา สถานที่สอนกีฬา ดนตรี ขับร้อง การแสดงศิลปะป้องกันตัว ศิลปะ ภาษา และสถานที่ที่ประกอบกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน
• สถานที่สาธารณะอื่น ๆ ได้แก่ สถานรับดูแลหรือสงเคราะห์เด็ก ผู้เยาว์ หรือสมาคม มูลนิธิ สนามเด็กเล่น หรือสถานประกอบการ/สถานที่ให้บริการสำหรับเด็กในลักษณะเดียวกัน

2. พื้นที่และบริเวณทั้งหมด เป็นเขตปลอดบุหรี่ คือ
• สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้แก่ สถานประกอบกิจการนวดแผนไทยหรือแผนโบราณ สถานที่ให้บริการอบความร้อนอบไอน้ำอบสมุนไพร สถานประกอบกิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือกิจการนวดเพื่อความงาม
• สถานศึกษาหรือสถานที่เพื่อการเรียนรู้และฝึกอบรม ได้แก่ สถานฝึกอบรมอาชีพ อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม ห้องสมุดสาธารณะหรือห้องสมุดประชาชน

• สถานที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาทั้งในร่มและกลางแจ้ง ได้แก่ สนามกีฬา สถานการกีฬา หรือสถานที่สำหรับแข่งขันกีฬา อัฒจันทร์หรือสถานที่ที่จัดไว้สำหรับดูกีฬา โรงยิมเนเซียม ฟิตเนส โยคะ สถานที่ออกกำลังกาย สถานที่ฝึกซ้อมไดร์ฟกอล์ฟ สระว่ายน้ำ
• สถานที่ให้บริการร้านค้าและสถานบันเทิง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ตู้กดเงินอัตโนมัติหรือตู้บริการด้านการเงินอัตโนมัติ สถานที่จำหน่ายอาหารเครื่องดื่มหรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีระบบปรับอากาศ สถานเสริมความงามหรือสถานที่ให้บริการด้านความงาม อู่ซ่อมรถศูนย์รถยนต์หรือสถานที่ให้บริการด้านรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน อาคารจอดรถ อาคารจอดแล้วจร อาคารจอดรถชั่วคราว ร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและร้านขายยา ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ ร้านซักรีด หรือจุดให้บริการซักอบผ้าอัตโนมัติ โรงมหรสพ โรงละคร โรงภาพยนตร์ หรือสถานที่แสดงมหรสพชั่วคราว สถานที่บริการคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือเกมทุกประเภท สถานที่ให้บริการคาราโอเกะ หรือสถานบันเทิงอื่น ๆ
• สถานที่สาธารณะอื่น ได้แก่ สถานที่ทางศาสนา ศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนา ลัทธิ หรือนิกายต่าง ๆ สถานรับดูแลหรือสงเคราะห์ผู้หญิง ผู้ชรา ผู้พิการ หรือสมาคม มูลนิธิ สถานรับดูแลหรือสงเคราะห์สัตว์ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก สวนน้ำ สถานที่จัดนิทรรศการประชุมอบรมหรือสัมมนา สถานที่สำหรับจัดงานเลี้ยงหรือสันทนาการ ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดถนนคนเดิน หรือสถานที่ที่จัดไว้ให้ผู้ค้ามาชุมนุมเพื่อจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่จัดเป็นประจำทุกวันหรือเป็นครั้งคราว ห้องตู้หรือยานพาหนะที่ให้บริการสุขา ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือสถานที่ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ ลิฟต์โดยสารของสถานที่สาธารณะทุกประเภท
• ยานพาหนะสาธารณะ ในขณะให้บริการไม่ว่าจะมีผู้โดยสารหรือไม่ก็ตาม ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการในลักษณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์รับจ้างหรือรถสามล้อรับจ้าง รถตู้โดยสาร รถโรงเรียน ยานพาหนะทุกประเภทที่ใช้รับส่งนักเรียนหรือนิสิตนักศึกษา ยานพาหนะรับส่งบุคลากรพนักงาน คนงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน รถบรรทุกคนโดยสาร รถม้าหรือรถที่ใช้สัตว์อื่นลากจูงเพื่อโดยสาร กระเช้าโดยสาร เรือโดยสาร เรือสำราญ แพโดยสาร แพขนานยนต์ รถฉุกเฉิน รถดับเพลิง รถพยาบาล หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ไฟสัญญาณ แสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรน รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถราง เครื่องบินหรืออากาศยาน เรือเหาะ (Zeppelin) ยานพาหนะสาธารณะอื่นทั้งประเภทประจำทางและไม่ประจำทาง
• จุดพักคอยยานพาหนะ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานีขนส่งผู้โดยสาร ได้แก่ ป้ายรถโดยสารประจำทางและพื้นที่โดยรอบของป้ายรถโดยสารประจำทางในระยะรัศมี 3 เมตร จากเสากลางหรือจากส่วนขอบริมสุดของที่พักผู้โดยสาร ท่าเทียบเรือ ท่ารับส่งคนโดยสาร จุดพักคอยรับส่งผู้โดยสารของรถตู้ แท็กซี่ รถสองแถว รถสามล้อ และรถจักรยานยนต์

3. พื้นที่และบริเวณทั้งหมด เป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่สามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่ในพื้นที่นอกอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้ ได้แก่ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ท่าอากาศยาน

4. พื้นที่และบริเวณทั้งหมด และระยะ 5 เมตรจากพื้นที่ที่ระบุ หรือจากประตูหน้าต่าง ทางเข้า ทางออก ท่อ หรือช่องระบายอากาศ คือ
• พื้นที่ภายในและดาดฟ้าของอาคารโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่ทำงานของเอกชน โรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการที่มีการผลิตสินค้า สนามกอล์ฟ อุทยานประวัติศาสตร์ อุทยานหรือวนอุทยานแห่งชาติ โบราณสถาน สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อนุสรณ์สถาน
• พื้นที่ภายในและดาดฟ้าของอาคารโรงเรือน พื้นที่ใต้หลังคา และบริเวณชานชาลาของสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟใต้ดิน สถานีรถราง ท่าเรือโดยสาร
• บริเวณโถงพักคอย ห้องหรือสถานที่สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกัน และทางเดินภายในอาคาร โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างของอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม ห้องเช่า หอพัก แมนชั่น อพาร์ทเมนต์ คอร์ท โรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ หรือสถานที่พักตากอากาศอื่น ๆ บริเวณที่จำหน่ายหรือให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารและเครื่องดื่มของสถานที่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีระบบปรับอากาศ
โดย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้เขตปลอดบุหรี่ ต้องมีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่ และต้องไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับการสูบบุหรี่
หากพบการกระทำผิด เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบ เรียกให้หยุดหรือเข้าไปในยานพาหนะ เรียกขอดูบัตรประจําตัวประชาชน ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกเสียง หรือเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้ดำเนินคดี หรือออกคําสั่งให้ชําระเงินค่าปรับได้ เป็นต้น
สำหรับโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ผู้ที่พบเห็นการกระทำผิดสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ หากไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ ให้เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ถ่ายภาพผู้กระทำความผิด และบันทึกวัน เวลา สถานที่กระทำความผิด ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
หรือส่งไปที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ โทร.0-2580-9264, 0-2580-6961 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา 0-2590-3342 กด 2 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/279/T_0018.PDF
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

https://www.thaiquote.org/content/65082