ร่างกายของคุณเหมือนคนอายุเท่าไหร่?

ร่างกายของคุณเหมือนคนอายุเท่าไหร่?

คงเป็นเรื่องน่าตกใจ หากคุณพบว่า…
ตัวเองมีสภาวะร่างกายที่เสื่อมถอยกว่าอายุปัจจุบันถึง 10 ปี…
ฮอร์โมนของคุณเริ่มลดต่ำและขาดสมดุลโดยไม่รู้ตัว…
มวลกล้ามเนื้อหายไปรวดเร็วกว่าคนวัยเดียวกัน…
และหลอดเลือดของคุณกำลังมีแผลเล็กๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ

โดยที่ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ผลการตรวจสุขภาพประจำปีจะระบุว่าคุณไม่มีโรคร้ายแรงใดๆ ที่ต้องกังวล อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติดีทุกประการ

ไม่ป่วย ไม่ได้หมายถึง “แข็งแรง”
พญ. วิมลจันทร์ วุฒิคงสมบัติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (ตรวจสุขภาพ) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกถึงความเสื่อมของร่างกายนั้น ไม่อาจวัดได้ด้วยการตรวจสุขภาพทั่วไปเพียงอย่างเดียว เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการตรวจคัดกรองโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่ซ่อนอยู่โดยไม่ปรากฏอาการ เมื่อไม่พบโรคร้ายหรือความผิดปกติที่รุนแรง จึงไม่ได้หมายความว่าคุณแข็งแรงอย่างที่ควรจะเป็น
การตรวจสภาวะความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายที่แท้จริงต้องการการตรวจในระดับที่ลึกกว่าและครอบคลุมกว่า เพื่อให้แพทย์สามารถคาดการณ์ถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และให้คำแนะนำแนวทางในการป้องกันก่อนการเจ็บป่วยได้ อันเป็นหลักการของเวชศาสตร์ป้องกันและการคาดการณ์โรคล่วงหน้า (predictive and preventive medicine) ซึ่งจะช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีพลังชีวิตมากขึ้น กระปรี้กระเปร่า และดูอ่อนเยาว์ลง

ตรวจหาอายุที่แท้จริงของร่างกาย (Biological age)
การตรวจความแข็งแรงสมบูรณ์หรือการหาอายุที่แท้จริงของสภาวะร่างกาย สามารถทำได้ด้วยการตรวจสุขภาพโดยรวมซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ร่วมกับการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดทางสุขภาพทั้ง 9 ด้านที่เรียกว่า vitality comprehensive test ซึ่งได้แก่
• ระดับฮอร์โมน ฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบเคมีที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย อารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ ความสมดุลของฮอร์โมนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมนต่างๆ เช่น growth hormone ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และฮอร์โมนเพศ เพื่อดูว่ามีการพร่องฮอร์โมนเกิดขึ้นหรือไม่
• ภาวะการอักเสบในร่างกาย เป็นการตรวจดูการอักเสบในหลอดเลือดซึ่งเป็นการตรวจระดับลึก โดยใช้ตัวชี้วัดระดับการอักเสบ ได้แก่ โปรตีน C-reactive protein (CRP) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ รวมถึงตรวจวัดระดับของสาร homocysteine ในเลือดที่จะช่วยให้ทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในหลอดเลือดหรือไม่ เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตันในระยะเริ่มต้นที่ยังสามารถรักษาได้
• ความฟิตของร่างกาย เป็นการตรวจสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยตัวอย่างองค์ประกอบที่ใช้วัด ได้แก่ ความคล่องแคล่วว่องไว ความแข็งแรงของระบบหัวใจและปอด ความยืดหยุ่นของร่างกาย เวลาปฏิกิริยาตอบสนอง (reaction time) การทำงานสอดประสานระหว่างตา-มือ-เท้า รวมถึงความอดทนและแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลักทั้ง 3 ส่วนคือ กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อตามลำตัว
• ความเครียด ความเครียดไม่เพียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย เพราะเมื่อเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตจะถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักขึ้น เพื่อหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์เพิ่มสำหรับต่อสู้กับความเครียด เมื่อเกิดความเครียดเรื้อรังจะส่งผลให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้าและปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า อ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดตัว ปวดข้อ และทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ทั้งนี้ ความเครียดสามารถตรวจวัดได้ด้วยแบบประเมินความเครียดและการตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง
• การดำเนินชีวิต เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพได้ โดยจะประเมินจากปริมาณการออกกำลังกาย การนอนหลับ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และแปลผลจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ
• องค์ประกอบของร่างกาย เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายอย่างละเอียด ด้วยการตรวจกล้ามเนื้อ มวลกระดูก มวลไขมัน ปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพื่อดูความสมดุลขององค์ประกอบทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงภาวะโภชนาการของร่างกายเพื่อการแก้ไขที่ตรงจุด
• ความดันโลหิต เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้น
• คาร์โบไฮเดรต เป็นการตรวจระดับอินซูลินและระดับน้ำตาลรวมไปถึงน้ำตาลสะสม
• คอเลสเตอรอล เป็นการตรวจระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันชนิดดีและไม่ดี เพื่อดูความเสี่ยง ของโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

การตรวจระดับลึกเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์วัยยุวัฒน์ (anti-aging medicine) ซึ่งจะนำเอาดัชนีชี้วัดทางสุขภาพทุกด้านมาประมวลหาความแข็งแรงสมบูรณ์ที่แท้จริง แล้ววางแผนปรับปรุง ส่งเสริมสุขภาพเฉพาะบุคคลในส่วนที่ยังบกพร่อง อาทิ

• การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต
• การจัดสมดุลของโภชนาการ
• การเสริมฮอร์โมนที่ร่างกายพร่องไป
• การออกกำลังกาย

นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นเป็นรายบุคคล นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตรวจหาความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายที่แท้จริงจึงสำคัญ หากคุณต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เปี่ยมพลัง และรู้สึกถึงความอ่อนเยาว์จากภายในสู่ภายนอก

พญ. วิมลจันทร์ วุฒิคงสมบัติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (ตรวจสุขภาพ) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์/เรียบเรียงข้อมูล
ขอขอบคุณ : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์