นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กกระทรวงฯได้เร่งแก้ไข ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) ที่กระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)ได้ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงไปแล้ว 350 แห่งจากที่อยุ่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,700 แห่ง(กทม.และปริมณฑล)
โดยล่าสุดจากการตรวจสอบได้สั่งการให้ 9 โรงงานดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงให้เสร็จภายใน 15 วันแต่ไม่เกิน 30 วันเร่งด่วนซึ่งเป็นมลพิษด้านเสียงและน้ำที่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ โรงงานขนาดใหญ่พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นปัญหาPM 2.5 แต่เป็นPM 10 ซึ่งทางกรมฯเห็นว่าจะอย่างไรก็มีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ดี จึงสั่งตรวจสอบและเบื้องต้นก็พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องฝุ่นแต่เป็นเรื่องอื่นมากกว่า
สำหรับโรงงานในต่างจังหวัด นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดไปสำรวจโรงงานเร่งด่วนทั้งหมดในแผน 7,700 แห่งใน 12 จังหวัดที่เสี่ยงและได้มีการตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมา 1,006 โรงงาน ในจำนวนนี้พบมีการปล่อยมลพิษทางอากาศ จึงสั่งการให้แก้ไข 14 โรงงาน
ส่วนกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน 600 โรงงาน กรอ.สั่งการให้ติดตั้งระบบการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมแบบต่อเนื่อง ( CEMS)เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ ซึ่งโรงงานต้องรายงานผลการตรวจวัดไปที่ศูนย์รับข้อมูลของ กรอ.หรือศูนย์รับข้อมูลที่กรอ.เห็นชอบ และยังขอความร่วมมือให้โรงงานอุตสาหกรรมอีก 2,000 โรงงาน ที่อยู่ในข่ายมีความเสี่ยงปล่อยมลพิษติดตั้งเครื่อง CEM ภายใน 1 เดือน และลิงค์รายงานมายังกรมโรงงานเพื่อติดตามได้ทันทีเช่นกัน
ทั้งนี้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายทองชัย ชวลิตพิเชษฐ อธิบดี กรอ.ได้หารือกันและได้ข้อสรุปที่จะขอความร่วมมือโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงและตั้งอยู่ในเขตที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูง ลดกำลังการผลิตในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือเริ่มต้นเผดินเครื่องผลิตหลังช่วงเวลาเร่งด่วน โดยขอให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดทำงานบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อออกตรวจโรงงานร่วมกัน