ปัจจุบันสังคมไทยมีความเครียดสูง มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเอง หรือก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ มากมายและลึกซึ้งมากขึ้น เห็นได้จากข่าวสารประจำวัน ทาง Thaiquote เห็นว่าบทความของทางทีมเว็บไซต์ สสส. เขียนเรื่องการใช้พลังบวกเพื่อปะทะพลังลบ ซึ่งมีประโยชน์มากจึงขอนำมาเสนอดังนี้
“ในหลายครั้งเมื่อเราตกอยู่ในสภาวะที่เศร้าหมอง หรือมีความทุกข์ มักเป็นเรื่องที่ยากที่เราจะกลับมาสดใสร่าเริงอีกครั้ง แต่เมื่อเราผ่านมันไปได้และมองย้อนกลับไปจะมองเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องตลก แต่ตราบใดที่เรายังติดอยู่ภาวะเศร้าหมอง ก็ยากที่จะหลุดออกมา…
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. ขอนำเสนอเคล็ดลับในการสร้างพลังบวกและขจัดพลังลบให้กับผู้อ่าน เพื่อให้มีพลังด้านบวกในการทำงาน และขจัดพลังลบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต โดยเคล็ดลับนี้ ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ ครูผู้มากประสบการณ์ ได้แนะนำเอาไว้ว่า
ใช้ภาษาที่เป็นบวก มีงานวิจัยออกมาเยอะมากว่า ทุกครั้งที่เราพูดในเรื่องที่เป็นลบ จะส่งผลกับเคมีในเลือด และทำให้เลือดเป็นกรด เมื่อไหร่ที่เราจดจ่อกับเรื่องด้านลบ ก็เปรียบเสมือนว่าเรากำลังวางยาพิษให้กับจิตใจของตัวเองและทำให้ร่างกายของเราอ่อนแอตามที่เราพูดออกไป
หากไม่ล้มเลิกก็ไม่ล้มเหลว หากวันนี้ทำไม่ได้ให้บอกกับตัวเองว่าพรุ่งนี้เริ่มใหม่ ต้องให้กำลังใจตัวเอง และอย่ารู้สึกผิด เพราะการรู้สึกผิดที่ล้มเหลวจะยิ่งทำให้เรารู้สึกผิดมากกว่าเดิม หากเราทำพลาดต้องอย่าดราม่า อย่าไปให้ความสำคัญมองข้อผิดพลาดให้เป็นเรื่องบวก หรือมองให้เป็นข้อดี มองเป็นการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นให้เราถามกับตัวเองว่า จะเรียนรู้อะไรกับเหตุการณ์นี้ มันมีข้อดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และนำข้อดีนั้นมาเป็นแหล่งพลังงานให้กับตนเอง
แต่หากเรารู้สึกท้อแท้หดหู่ ออกจากความคิดแย่ ๆ ไม่ได้ ‘ครูเงาะ’ ก็ได้แนะนำเคล็ดลับเอาไว้ ดังนี้
อย่าหลอกตัวเอง ถ้าเศร้าต้องยอมรับว่าเศร้า ถ้าอยากร้องไห้ต้องร้อง แต่เมื่อร้องไห้เสร็จ เศร้าเสร็จจะต้องจบ และเจริญสติให้กับตัวเอง ใช้สติอยู่กับปัจจุบัน เพราะสติคือฐานทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลง คนเราเปลี่ยนได้หากมีสติ อยู่กับปัจจุบัน หากช่วงไหนไม่เศร้าก็ไม่ต้องเศร้า ไม่จำเป็นต้องเศร้าตลอดเวลาก็ได้ ให้อยู่กับลมหายใจปัจจุบัน
เปลี่ยนร่างกาย ทำให้ร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่เป็นบวก ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
ย้ายโฟกัส เปลี่ยนไปโฟกัสในเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่อนุญาตให้ตัวเองคิดในเรื่องที่เศร้า หากปัญหาเป็นเรื่องที่แก้ได้ให้โฟกัสกับการแก้ปัญหา แต่หากเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ให้โฟกัสในเรื่องอื่น
เลือกคำพูดที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้เราได้เรียนรู้อะไร เราโชคดีอย่างไรทีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา และเหตุการณ์นี้ทำให้เราเติบโตได้อย่างไร
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ต้องอาศัยเวลา ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะหายเศร้าหรือหายทุกข์ในทันที แต่จะต้องค่อย ๆ ทำ และหมั่นฝึกสร้างพลังบวกอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ตนเองมีวัคซีนต้านเศร้า เมื่อถึงจุดนั้นปัญหาเล็กน้อยจะไม่สามารถทำอะไรเราได้”
ขอขอบคุณ ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)