ครม. มีมติเห็นชอบ ให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามข้อเสนอกระทรวงพาณิชย์ แต่ให้ ตั้งอนุกรรมการหารือแนวทาง ยันรัฐไม่กำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาลสูงสุด ไม่แทรกแซง แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมวันนี้ (22 ม.ค.) มีมติเห็นชอบให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุมตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2562 จำนวน 52 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า และ 6 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการหรือกกร. ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการกกร.เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ซึ่งได้มีการทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุม ปี 2562 และได้มีมติเห็นชอบสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 52 รายการ โดยแบ่งเป็น 10 หมวดสินค้าและ 1 หมวดบริการ ดังนี้
1.คงราคาสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 50 รายการจำแนกเป็น 45 สินค้า 5 บริการ โดยปรับเพิ่มข้อความรายการสินค้าควบคุมจำนวน 1 รายการคือข้าวสาลี ปรับเป็นข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการโรงงานอาหารสัตว์มีการนำเข้าข้าวบาร์เลย์มากขึ้น
2.ยกเลิกรายการสินค้าควบคุมจำนวน 4 รายการ คือ เยื่อกระดาษ แบตเตอรี่รถยนต์ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย
3.เพิ่มรายการสินค้าและบริการควบคุมจำนวน 2 รายการคือ เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค ในหมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ เพื่อให้มีการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นและมีการใช้ในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก เช่น ผ้าพันแผลสายน้ำเกลือ เข็มฉีดยา // บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคซึ่งอยู่ในหมวดบริการ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลสูงเกินจริง
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า “รัฐบาลไม่ได้ต้องการเข้าไปแทรกแซงราคา แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะไม่ได้กำหนดราคาเพดานสำหรับบริการทางการแพทย์แต่อย่างไร ซึ่งแนวทางข้อสรุปจะได้จากการหารือกับอนุกรรมการฯที่จัดตั้งขึ้นต่อไป”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันว่าการนำเป็นสินค้าและบริการควบคุม ไม่ได้เป็นการควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ หรือควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน และไม่ได้มีเป้าหมายเข้าไปแทรกแซง ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล แต่ในการใช้มาตรการดูแล จะมีคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นผู้กำหนดมาตรการในการกำกับดูแลให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ