โดยวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ทั่วถึงกัน สร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสนใจ เร่งรัด ติดตามความก้าวหน้า เพื่อให้ทั้ง 2 โครงการเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยหวังจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรอย่างเร่งด่วน
“โมโนเรล” คืออะไร
“โมโนเรล” คือ ระบบขนส่งมวลชนทางรางรูปแบบหนึ่ง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000-40,000 คน/ชม./ทิศทาง โดยลักษณะตัวรถและโครงสร้างรางเดี่ยวที่เป็นทางวิ่งมีขนาดเล็กและเบา จึงก่อสร้างง่าย รวดเร็ว และราคาถูกกว่ารถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) ถึง 50% เมื่อเทียบต่อกิโลเมตร โดยค่าก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท/กม. ส่วนระบบโมโนเรลเฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 ล้านบาท/กม.
รายละเอียดโครงการ
สำหรับ รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เป็นโครงการนำร่องภายใต้นโยบาย PPP Fast Track ของรัฐบาล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานโครงการฯ ให้มีความรวดเร็ว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ร่วมกับภาครัฐเพื่อลดภาระด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะของประเทศ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ กับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM)
โดยกำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ และให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน และแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และ ระยะที่ 2 งานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา ระยะเวลา 30 ปี โดยให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการปัจจุบันการดำเนินงานระยะที่ 1 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาร้อยละ 3.10 (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561) ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาร้อยละ 5.07 (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561) โดย รฟม. มั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ และทดลองระบบต่างๆ พร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าแบบ Heavy Rail หรือระบบขนส่งมวลชนหลัก ที่ต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่น้อยกว่า 6 ปี ทั้งนี้ รถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งสองสายจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ผ่านพื้นที่ดังต่อไปนี้
รถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
รถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 โดยมีแนวเส้นทาง ดังต่อไปนี้ แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ) บริเวณใกล้แยกแคราย วิ่งไปตามถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นวิ่งไปบนถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี แล้ววิ่งเข้าสู่เมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา จึงเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง หรือถนนสุขาภิบาล 3 สิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งจะบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร
รถไฟฟ้า สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
รถไฟฟ้า สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 โดยมีแนวเส้นทาง ดังต่อไปนี้ เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง โรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม