‘ดร.เฉลิมชัย’ นำคณะกระทรวงทรัพย์ฯ และ ‘หมูเด้ง’ บุก COP 29 โชว์ตัวใน Thailand Pavilion จัดแสดงผลงานและเสวนาแก้ปัญหาโลกเดือดของไทย
ประเทศไทยเตรียมแสดงบทบาทสำคัญในเวทีโลกกับการประชุม COP 29 ณ กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก จัด ‘Thailand Pavilion’ ต้อนรับ ‘น้องหมูเด้ง’ ฮิปโปแคระขวัญใจชาวไทยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุม COP (Conference of the Parties) จัดขึ้นครั้งแรก ปี 2538 และได้ดำเนินการต่อเนื่องทุกปี โดย COP 29 ในปี 2567 ถือเป็นครั้งที่ 29 ของการประชุมใหญ่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงาน Emissions Gap 2024 จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2566 ทำสถิติสูงสุดที่ 57.1 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพิ่มขึ้น 1.3% จากปี 2565 และหากยังคงดำเนินการตามนโยบายเดิม อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้น 3.1 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายในข้อตกลงปารีสที่ต้องการจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน จึงจะเป็นเวทีสำคัญในการผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ต่อมาได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 และความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559
ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ จึงได้เข้าร่วมการประชุมฯ และดำเนินการตามพันธกรณีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับนานาประเทศ
ทั้งนี้ ภารกิจในการเดินทางไป COP29 ต้องการขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Angreement) สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการเข้าร่วมการประชุม COP 29 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว ประเทศไทยยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดแสดงนิทรรศการใน Thailand Pavilion นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
นโยบายสภาพภูมิอากาศ (Climate Policy), เทคโนโลยีด้านภูมิอากาศ (Climate Technology), การดำเนินการด้านภูมิอากาศ (Climate Action) และการเงินด้านภูมิอากาศ (Climate Finance) พร้อมโซนเทคโนโลยีและ นวัตกรรมจากภาคเอกชน (Technology and Innovation Zone) ที่จะนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากภาคเอกชน
ในครั้งนี้ยังได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) เพื่อเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนเยาวชน ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ในหัวข้อต่างๆ กว่า 30 หัวข้อ อาทิ เยาวชนกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจสีเขียว นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดและกักเก็บคาร์บอน การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาต่าง ๆ
คนไทยนำอะไรไปโชว์ใน Thai Pavillion
ในปีนี้ ผู้ที่เข้าเยี่ยมชม Thailand Pavilion ยังจะได้พบกับ ‘หมูเด้ง’ ฮิปโปโปเตมัสแคระ ขวัญใจของชาวไทยและชาวโลก จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ผ่านกิจกรรมถ่ายภาพที่ระลึกลงบนแมกเนต อีกด้วย โดยประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ สามารถติดตามโปรแกรมและความเคลื่อนไหวของ Thailand Pavilion กิจกรรมคู่ขนานการประชุม COP29 ได้ทุกวัน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ผ่านทางไลฟ์สด Facebook กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 30 หัวข้อ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ บทบาทเยาวชน เศรษฐกิจสีเขียว นวัตกรรมการลดคาร์บอน การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยมีจุดถ่ายรูปพร้อมของที่ระลึกเป็นแม่เหล็ก ‘น้องหมูเด้ง’ ฮิปโปแคระจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี
‘หมูเด้ง’ เกี่ยวข้องอะไรกับโลกเดือด
หมูแด้งไม่ได้เกิดมาแค่ดังแต่ยังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ปัจจุบันฮิปโปโปเตมัสแคระ ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยปัจจุบันมีเหลืออยู่ในธรรมชาติ ประมาณ 2,000-2,500 ตัว เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ทำให้ทำให้ตกอยู่ในภัยอันตราย
จากการการสูญเสียที่อยู่อาศัยเนื่องจากป่าถูกทำลาย, แหล่งน้ำไม่เพียงพอ และการขุดแร่เถื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่งผลให้พฤติกรรมการหาอาหารและการใช้ชีวิตของฮิปโปถูกขัดขวาง อีกทั้งฮปโปยังขัดขวางการทำเกษตรและประมงของมนุษย์ นำมาสู่การล่าและลงมือกำจัดเพื่อให้รอดจากฮิปโปดุร้าย ก่อนนำเนื้อหนังและฟันของฮิปโปแคระไปใช้งาน
การทำลายที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบ ไม่เพียงแต่กับฮิปโปแคระแบบหมูเด้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ทุกชนิดทั่วโลก ไม่ว่าจะอาศัยในป่า บนภูเขา หรือใต้ทะเล สัตว์ต้องเผชิญกับมลพิษ เช่น ขยะพลาสติก และการสูญเสียที่อยู่อาศัยจากการถางป่า เป็นต้น
ปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ เหตุการณ์เหล่านี้จึงขัดขวางความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างมาก
การอนุรักษ์ธรรมชาติจึงกลายเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนควรมีส่วนร่วม โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน หันมาสนับสนุน การปลูกต้นไม้และใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการปกป้องป่าและลดการใช้พลาสติก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ปกป้องสิ่งมีชีวิต และทำให้โลกนี้น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน ให้สิ่งมีชีวิตที่เรารักอยู่คู่โลกไปได้อย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ประชาชนสามารถติดตามกิจกรรมผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567