ด้วยแนวคิดการสร้างความตระหนักรู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ริเริ่มขึ้นโดยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน
ปัจจุบันได้ขยายผลร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาหลักทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นศูนย์ประสานงานสำคัญแห่งหนึ่งของพื้นที่ภาคกลาง ครอบคลุมจังหวัดนครปฐม “จังหวัด 3 สมุทร” ซึ่งได้แก่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ รวมทั้งจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และกรุงเทพมหานครบางส่วน
ดร.สุนิสา แสงวิโรจนพัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึง บทบาทในเชิงรุกของ “ศูนย์ประสาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่ต่อไปจะ “เปิดประตูสู่ชุมชน” มากขึ้น
โดยมุ่งสร้างฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งศูนย์ประสานงานทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชนและผู้เชี่ยวชาญ ในการสร้างฐานข้อมูล เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการเรียนรู้โดยเท่าเทียม ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG4 (Quality Education) บนความสมบูรณ์ของชีวิตบนบกที่ยั่งยืน (Life on Land) ตาม SDG15
งานที่ ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การจัดการประชุม – อบรมให้แก่สมาชิก เพื่อให้เข้าใจการลงพื้นที่สำรวจและบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้อง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างฐานทรัพยากรของชาติต่อไปในอนาคต
นางสาววรรณรัตน์ ทับแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพัฒนาธุรกิจ โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างถึงหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบที่ทาง อพ.สธ. – มหิดล ได้มีส่วนร่วมพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ พื้นที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี ซึ่งอยู่ห่างจาก วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นที่ตั้งหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล เพียงประมาณ 12 กิโลเมตร
ที่ผ่านมาจากการส่งนักวิชาการเกษตร และแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ลงพื้นที่ตำบลงิ้วราย ยังไม่ปรากฏพบพืชประจำถิ่นที่แน่ชัด ทางนายก อบต.งิ้วราย และคณะจึงได้เดินทางไปยังวัดสุวรรณาราม ตำบลศาลายา อำภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่อยู่ใกล้กัน
จนได้พบกับพืชสมุนไพรที่ประชาชนในพื้นที่เรียกว่า “เทวดาเก้ายอด” ซึ่งเชื่อกันว่าหากนำมาต้มกับน้ำจนงวดเหลือแก้วเดียวจะสามารถใช้ดื่มรักษาโรคได้
จึงได้นำมาศึกษาเพื่อดูลักษณะของสายพันธุ์ และสรรพคุณทางยา ในเบื้องต้นพบว่าเป็นพืชในสกุล indigofera หรือ”คราม” ซึ่งมีการใช้ประโยชน์เป็นพืชให้สี และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาสรรพคุณทางยาโดยละเอียดต่อไป
จุดน่าสนใจอยู่ที่ การมุ่งปรับปรุงพัฒนาพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟสถานีงิ้วราย ให้เป็น “ที่ปลูกสมุนไพร” โดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่สามารถนำไปปรุงอาหารได้ อาทิ ขิง ข่า ไพล ฯลฯเพื่อให้เกิดภูมิทัศน์ที่สวยงาม สร้างความร่มรื่นแก่ผู้สัญจรทางรถไฟ และชาวชุมชนในพื้นที่
อีกทั้งเป็นการรณรงค์ปลูกพืชสมุนไพรที่ชาวชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน ริเริ่มโดยองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย ภายใต้โครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร ของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ อพ.สธ. – มหิดล ภายใต้การดำเนินงานของโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งได้ให้การสนับสนุนพันธุ์พืชสมุนไพรรวมแล้วจำนวน 80 ชนิด
ในส่วนของกิจกรรมการฝึกอบรมที่จัดขึ้นเป็นประจำ ณโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อให้บริการวิชาการแก่ประชาชนทั่วไปนั้นยังคงจัดอย่างต่อเนื่อง
โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นผู้สูงอายุ และเยาวชน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดต่างๆ พร้อมเรียนรู้วิธีการใช้ประโยชน์ เพื่อนำองค์ความรู้ส่งต่อให้กับชุมชนต่อไป
ซึ่งนอกจากการร่วมสนับสนุน “โครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร” เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 อุทยานฯ มีกำหนดจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลวันแม่”สิรีมีรัก ของขวัญแด่แม่” ครั้งที่ 2 SUSTAINABLE เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566
เริ่มลงทะเบียนเวลา 08.30 น. ณ โถงอาคารใบไม้สามใบอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา กิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงจากนักเรียนสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ฐานกิจกรรมสิรีฯ เพาะชำต้นมะลิ การ์ดเมล็ดพืช การสาธิตทำอาหารเหนือ “ไข่ป่ามสมุนไพร” (ไข่สมุนไพรย่างใบตอง)
ร่วมด้วย ฐานกิจกรรมชมรมอนุรักษ์ ฐานพลังงานสะอาด ฐานชมรมดูนก การแสดงดนตรีโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกจากสิรีฯ และร้านค้าอีกมากมาย
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น. โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ได้เปิดให้ผู้สูงอายุเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
พร้อมปรับราคาบัตรเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไปจาก 100 บาท เหลือเพียง 50 บาทเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหัวใจของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ สู่การร่วมสร้างจิตสำนึกรักษ์โลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ติดตามรายละเอียดได้ทาง www.sr.mahidol.ac.th Facebook : Sireepark
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ไทยติดอันดับที่ 8 ดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็กได้ดีที่สุดระดับโลก
https://www.thaiquote.org/content/250731
นักแสดงฮอลลีวูดและนักเขียนจับมือนัดหยุดงาน หลังจากพูดคุยกับสตูดิโอล้มเหลว
https://www.thaiquote.org/content/250730
นักวิจัย ม.นเรศวร ส่ง “ส้มโอฉายรังสี” ของดีเมืองชาละวัน ผลักดันก้าวไกลสู่สากล
https://www.thaiquote.org/content/250725