ปลูกวิธีคิด ระบบนิเวศสมดุล ผ่านเครือข่าย ‘ผึ้งงาน’ สานต่อ เกษตรกรรมยั่งยืน

ปลูกวิธีคิด ระบบนิเวศสมดุล ผ่านเครือข่าย ‘ผึ้งงาน’ สานต่อ เกษตรกรรมยั่งยืน


ซินเจนทาฯ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งต่อความรู้ วิธีเลี้ยงผึ้ง เกื้อกูลธรรมชาติ จากชาวสวนถึงเยาวชน ร่วมมืออนุรักษ์ผึ้ง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ผึ้ง คือ ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญในการสร้างสมดุลทางนิเวศและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การลดปริมาณของผึ้งในธรรมชาติ อาจส่งผลกระทบต่อระบบอาหารของมนุษย์

การอนุรักษ์สายพันธ์ผึ้งและสภาพแวดล้อมของผึ้ง จะช่วยให้เราสามารถรักษาสมดุลทางนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในโลกของเราได้

การดูแลและคุ้มครองผึ้งนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการวางแผนและดำเนินการทางเกษตรกรรมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต และการทำให้ผึ้งมีสภาพอยู่อย่างเหมาะสมและดูแลอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เราสามารถรักษาผลประโยชน์ที่เราได้รับจากผึ้งและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกของเราได้ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานหันมาใส่ใจในเรื่องนี้

 

 

สร้างเครือข่ายรักษ์ผึ้ง
ส่งต่อ จากชาวสวน สู่ห้องเรียน

 

ซินเจนทา ประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี ศูนย์ประสานงานผู้เลี้ยงผึ้งและชาวสวนไม้ผล อ.สอยดาว และโรงเรียนเครือข่ายในจังหวัดจันทบุรี เดินหน้าสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตร-สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการรักษ์ผึ้ง (BEE LOVE PROJECT) จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนรักษ์ผึ้ง “Bee Love School Camp” ถ่ายทอดความรู้เรื่องความสำคัญและบทบาทของแมลงผสมเกสรต่อระบบนิเวศให้กับนักเรียน เกษตรกรและชุมชน รวมไปถึงประเด็นการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ

 

นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางธุรกิจ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการรักษ์ผึ้ง หรือ BEE LOVE PROJECT เกิดขึ้นเพื่อต้องการ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ชาวสวนผลไม้และผู้เลี้ยงผึ้ง รวมถึงชุมชน รวมไปถึง การให้ความรู้กับเยาวชนให้มีความเข้าใจการรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้ถูกต้อง

“บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ชุมชน และภาคการศึกษา ให้ร่วมกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”

 

ปลุกความเข้าใจผึ้ง ถึงชาวสวน

นายนริศร์ คงสมบุญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจันทบุรี กล่าวว่า “เกษตรกรบางพื้นที่อาจยังไม่ทราบถึงการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ การที่เราร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนในการทำโครงการรักษ์ผึ้ง (BEE LOVE PROJECT) ถือเป็นโครงการที่ช่วยให้ความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงผึ้ง และชุมชน ได้เห็นถึงความสำคัญของผึ้งและแมลงมากยิ่งขึ้น หากทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ก็จะสามารถช่วยรักษาระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไปได้”

 

เบิกเนตร เคมี คือ บ่อนทำลาย รวงผึ้ง

นางอาลัย จิตตเจริญ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ยอมรับว่า “เริ่มแรกใช้สารเคมีมาตลอดไม่ได้มีความรู้เรื่องผึ้งเลย บวกกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ผึ้งหายไปจำนวนมาก พอได้เข้ามาอบรมที่ศูนย์ผึ้งได้รู้จักโครงการรักษ์ผึ้ง ทำให้ได้ความรู้ ความเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของผึ้ง และแมลงมากขึ้น คิดว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีและอยากเลี้ยงผึ้งควบคู่ไปด้วยก็สามารถเรียนรู้วิธีปฏิบัติ ไม่ให้สารเคมีที่เราใช้ ไปกระทบกับผึ้งและแมลงซึ่งเป็นตัวช่วยผสมเกสรที่เพิ่มผลผลิตของพืชผลในไร่ของเรา”

 

งัดมาตรฐาน GAP เกษตรผสมผสาน
ผึ้งปลอดภัย ผลไม้ขยายพันธ์ุ

 การส่งเสริมการทำเกษตรตามหลักการ IPM (Integrate Pest Management) หรือการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน และมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการผลิตพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยให้ผึ้งมีความปลอดภัยและสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบนิเวศน์มีความสมดุล เกษตรกรและผึ้งสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบพึ่งพาอาศัย ซึ่งกันและกัน เพราะผึ้งจะช่วยเกษตรกรในการผสมเกสรพืชที่ปลูกและผลผลิตที่ได้จากผึ้งยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย

 ในปีนี้โครงการรักษ์ผึ้ง (BEE LOVE PROJECT) ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน และโรงเรียนเครือข่าย ผ่านทางค่ายเยาวชนรักษ์ผึ้ง “BEE LOVE SCHOOL CAMP” ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์ผึ้งจันทบุรี) มีการจัดนิทรรศการเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับผึ้งและแมลงผสมเกสร สร้างพื้นที่แหล่งอาหารผึ้งและแมลงผสมเกสร รวมถึงร่วมกับเครือข่ายจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ ทำกิจกรรมเรื่องระบบนิเวศของผึ้งและแมลงผสมเกสรที่เหมาะสมสำหรับเด็กในระดับประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา งานดังกล่าวมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ผู้เลี้ยงผึ้ง และเยาวชน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมงาน