นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเสนอว่าแอ่งลึกในแม่น้ำโขงบริเวณสตรึงเตรงอาจเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของกระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ หนึ่งในสัตว์น้ำจืดที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากไม่นานมานี้ชาวประมงได้จับกระเบนน้ำหนัก 180 กิโลกรัม ทีมช่วยเหลือได้บันทึกภาพและปล่อยกระเบนตัวดังกล่าวกลับคืนสู่แม่น้ำ นักวิทยาศาสตร์มองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญทางระบบนิเวศของแม่น้ำโขงในระดับโลก
ชาวประมงจากชุมชนริมน้ำโขงจับกระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ความยาวขนาด 4 เมตร ได้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมาในประเทศกัมพูชา
“การจับกระเบนได้ในคราวนี้ ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ดังกล่าวบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ว่าในบางบริเวณของลำน้ำที่อาจมีแอ่งน้ำลึกถึง 79 เมตร คือแหล่งอาศัยสำคัญของสัตว์อย่างโลมาอิรวดี ตะพาบยักษ์ และสัตว์น้ำที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” University of Nevada ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565
จากการสอบถามชาวประมงในพื้นที่พบว่าปลากระเบนน้ำหนัก 180 กิโลกรัมนั้นไม่ใช่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้ เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เคยมีชาวประมงจับกระเบนขนาดใหญ่กว่านี้ถึงสองเท่า กระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์คือปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่หายากอันดับต้นๆ ของโลก ชนิดพันธุ์นี้ได้รับความสนใจอย่างมากในการสำรวจแหล่งน้ำครั้งล่าสุดของโครงการ Wonders of the Mekong ที่ได้รับเงินสนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID
ฐานในการสำรวจดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับแอ่งที่ลึกที่สุดในลำน้ำโขงและพื้นที่อนุรักษ์เพื่อคุ้มครองพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยเกาะแก่งและผืนป่าที่น้ำท่วมถึงในบางฤดูกาล อีกทั้งยังมีชาวประมงอยู่อาศัยจำนวนมาก
“ชาวประมงที่นี่เล่าให้เราฟังว่าเคยจับปลากระเบนที่อาจทำลายสถิติปลาน้ำจืดขนาดยักษ์ที่เคยจับได้” Zeb Hogan นักชีววิทยาด้านปลาจาก University of Nevada และผู้อำนวยการโครงการกล่าว “นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจที่พื้นที่เช่นนี้ยังคงหลงเหลืออยู่บนโลก”
สมาชิกโครงการ Wonders of the Mekong ทำงานร่วมกับชาวประมงในท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือปลากระเบนยักษ์ซึ่งถูกจับโดยไม่ตั้งใจเพราะไปกินปลาตัวเล็กที่ติดเบ็ด ทีมช่วยเหลือสามารถปลดเบ็ดออกได้ ทำการชั่งน้ำหนักและวัดขนาดก่อนที่จะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย ความสำเร็จครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและชาวประมงเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขง
พื้นที่ศึกษาของโครงการ Wonders of the Mekong อยู่บริเวณท้ายน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาแรมซาร์ และยังเป็นบ้านของปลากว่า 1,000 ชนิดพันธุ์ รวมทั้งปลาขนาดยักษ์ไม่ว่าจะเป็นกระเบนน้ำจืด ปลาบึก และปลากะโห้
‘กระเบนน้ำจืดยักษ์’ สามารถโตได้ยาวถึง 5 เมตรจากหัวถึงหาง หรือ 2 เมตรหากวัดในแนวกว้างและมีน้ำหนักได้มากถึง 600 กิโลกรัม ส่วนปลาบึกและปลากะโห้สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและมีน้ำหนักมากกว่า 300 ถึง 400 กิโลกรัม
นักวิจัยเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นที่หลบภัยในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งวางไข่ อีกทั้งยังเป็นอาศัยไม่กี่แห่งที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ของเหล่าปลาขนาดยักษ์ ภูมิภาคนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์พิเศษที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล
Hogan ระบุว่าปลากระเบนที่จับได้รวมถึงถิ่นอาศัยสะท้อนให้เห็นลักษณะอันโดดเด่นของระบบนิเวศของแม่น้ำโขงซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับโลก ขาดการศึกษาวิจัย และกำลังเผชิญภัยคุกคาม “พื้นที่แห่งนี้คือโลกที่น่าอัศจรรย์ แต่กลับไม่มีคนรู้จักและไม่มีใครสนใจ” เขากล่าว
นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Wonders of the Mekong ทำงานร่วมกับชุมชนและหาข้อมูลในตลาดเพื่อรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งจับมือกับกรมประมงของกัมพูชาเพื่อสร้างเครือข่ายชาวประมงที่ตกลงว่าจะรายงานทุกครั้งที่สามารถจับปลาขนาดใหญ่หรือใกล้สูญพันธุ์ได้
Pheng Boeun ชาวประมงในชุมชนระบุว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวประมงสามารถจับปลากระเบนขนาดยักษ์ได้ โดยปกติแล้วชาวประมงที่ Siem Bok จะจับปลากระเบนได้เสมอ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีน้ำหนักราว 30 ถึง 40 กิโลกรัมซึ่งส่วนใหญ่จะถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเนื่องจากกระเบนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจในกัมพูชา.
ที่มา: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 2 เท่าในรอบ 7 ปี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ชี้ บุหรี่ไฟฟ้า 1 ครั้งเท่ากับ 20 มวน
https://www.thaiquote.org/content/249490
ปลาเก๋าหยก เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศไทย
https://www.thaiquote.org/content/249474
บีเวอร์กำลังฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/249460