นกนอกเหนือจากเสียงขับขานอันไพเราะแล้ว นกยังมีหน้าที่ในการรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ แต่ที่ผ่านมานกหลายพันธุ์ได้สูญหายไปจากระบบนิเวศ ส่วนที่เหลือก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด มีการปรับตัวครั้งแล้วครั้งเล่า อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ และการทำลายจากน้ำมือของมนุษย์
นกในเมืองไทย ตามข้อมูลการสำรวจเมื่อปี 2561 สำรวจพบ 1,050 ชนิด ประเทศไทยอยู่กึ่งกลางคาบสมุทรอินโดจีนมีความยาวเหนือจรดใต้ 1,120 กิโลเมตร มีความกว้างตะวันออกถึงตะวันตก 780 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 54,315 ตารางกิโลเมตร ลักษณะตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทยแบ่งเป็น 6 ภาค แต่ละภาคมีโครงสร้างทางธรณีวิทยา และสภาพลุ่มแม่น้ำที่แตกต่างกัน ส่งผลให้สภาพธรรมชาติเหมาะสมใช้เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาศัย หลบซ่อนตัว สร้างรัง วางไข่ของนกที่แตกต่างกันไปด้วย
นกขุนทอง หรือ ภาษาคำเมืองเรียกว่านกเอี้ยงคำ เป็นนกในวงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง มีถิ่นอาศัยอยู่ทั่วไปในเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ มีความสามารถเลียนเสียงมนุษย์ได้เหมือนนกแก้ว จึงนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก และทำให้เห็นได้ยากในธรรมชาติ มันชอบส่งเสียงตอนเช้าและตอนค่ำ ๆ การเคลื่อนไหวบนกิ่งไม้จะใช้การกระโดดไปข้าง ๆ แทนการเดิน ซึ่งต่างจากนกเอี้ยงทั่วไป
ลักษณะทั่วไป
นกขุนทองมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 29 เซนติเมตร ลำตัวป้อมสีดำ หางสั้น ปีกแหลมยาว เท้าแข็งแรง มีเหนียง คือ แผ่นหนังสีเหลืองอมส้มคลุมทั่วท้ายทอยและเหนียงสีเหลืองแดงสดใต้ตา ขนสีดำเหลือบเขียว มีเงาสีม่วงบริเวณหัวและคอ มีสีขาวแซมใต้ปีก ปากสีแดงส้ม ขาสีเหลืองสด ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน
นกขุนทองเป็นนกที่รักความสะอาด ชอบอาบน้ำ ชอบไซ้ขน ตกแต่งขนอยู่ตลอดเวลา ชอบทำรังอยู่บริษัทโพรงไม้เก่า ๆ นกขุนทองกินทั้งพืชและสัตว์ เช่น ผลไม้ และแมลงต่าง ๆ นกขุนทองตัวหนึ่งมีเสียงร้องตั้งแต่ 3 ถึง 13 แบบ
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
ถิ่นแพร่พันธุ์หลักของนกขุนทองพบได้ในบริเวณโคนเทือกเขาหิมาลัย ใกล้เขตแดนอินเดีย, เนปาล, และภูฏาน แต่สามารถพบได้ในศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, จังหวัดปาลาวันของฟิลิปปินส์, ตอนเหนือของอินโดนีเซีย, และถูกนำเข้าไปในสหรัฐอเมริกา รวมถึงปวยร์โตรีโกด้วย
นกขุนทองชอบอาศัยอยู่ในป่าที่มีความชื้น และฝนตกมากพอสมควร อยู่รวมกันเป็นหมู่ใหญ่ ที่ระดับความสูง 0-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยจะพบทุกภาคยกเว้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ในประเทศไทยพบได้ 2 ชนิดย่อย คือ G. r. intermedia ที่พบในพื้นที่ภาคเหนือ และ G. r. religiosa ที่ตัวใหญ่กว่าชนิดแรก พบในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “นกขุนทองควาย”
นิสัยของนกขุนทองไม่ค่อยกลัวคน ชอบส่งเสียงดัง เมื่อจับมาขังกรงเลี้ยงจึงค่อนข้างดุ แต่มีความสามารถเรียนรู้ภาษาคนได้ ทำให้มันกลายเป็นนกที่นิยมเลี้ยงเป็นอย่างมาก นกชนิดนี้จับคู่กันไปตลอดชีวิต ถ้าคู่ของมันตาย จึงจะหาใหม่ มักจะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน หรือฤดูฝน หรือระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน วางไข่มีสีฟ้าอมเขียว มีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ประปราย การวางไข่ปีละ 1-2 ครั้ง ๆ ละ 2-3 ฟอง รังมักปูด้วยเศษหญ้า หรือวัสดุที่หาได้ในแหล่งหากิน ผู้คนมักนำนกตัวอ่อนไปเลี้ยง จึงทำให้ปริมาณนกขุนทองตามธรรมชาติลดน้อยลง
ถึงแม้ว่านกขุนทองจะได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า 2535 แต่คนก็เลี้ยงกัน และจับลูกของมันมาเลี้ยงอยู่ดี และส่งผลให้ปัจจุบันนี้ประชากรนกขุนทองลดลงอย่างมาก.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:
SMART SME EXPO 2022 จัดเต็มหัวข้อการสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับ SME และผู้สนใจแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ
https://www.thaiquote.org/content/247400
GULF เตรียมออกหุ้นกู้ อายุ 4 ปี และ 7 ปี เสนอขายประชาชนผ่านแอป ‘เป๋าตัง’ และสถาบันการเงินอีก 9 แห่ง สิงหาคมนี้
https://www.thaiquote.org/content/247442
คิดค้น “แถบทำความเย็น” ลดอุณหภูมิให้เส้นประสาท ฝังในร่างกายช่วยแก้ปวดรุนแรงหลังผ่าตัด
https://www.thaiquote.org/content/247436