ลุ้น “โนรา” ขึ้นทะเบียนยูเนสโก “มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”

ลุ้น “โนรา” ขึ้นทะเบียนยูเนสโก “มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”


ในการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2564 นี้

 

ประเทศไทย ได้เสนอ “โนรา” ศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก โดย “ชาย นครชัย” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า มีโอกาสสูงมากที่ “โนรา” ของไทยจะได้ขึ้นทะเบียน

 

เนื่องจากที่ผ่านมาเอกสารของไทยได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการชุดย่อยโดยไม่มีการส่งกลับมาแก้ไข และครอบคลุมประเด็นต่างๆแล้ว เช่น มีชื่อชุมชน คณะ กลุ่มบุคคล หรือ ปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง

 

โดยประเทศไทยมีสายตระกูลหลักที่สืบทอดโนราอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ มีคณะโนราอาชีพกระจายเป็นส่วนใหญ่รวม 278 คณะ อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา

 

ทั้งนี้ สวธ.จะกำหนดจัดการแถลงข่าวการขึ้นบัญชีโนรา เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกาศผลการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์จากที่ประชุม กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

โดยจะมีการพิจารณาการขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของประเทศสมาชิก หนึ่งในนั้นมีโนรา ของประเทศไทย ที่จะได้เข้ารับการพิจารณา

 

สำหรับ “โนรา” เป็นการร่ายรำตามแบบฉบับของชาวปักษ์ใต้ มีการขับร้องประกอบดนตรี อันได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตร ซึ่งเป็นต้นฉบับในการเล่นละครชาตรีมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีผู้รู้บางคนกล่าวว่าการรำโนราน่าจะเป็นวัฒนธรรมของอินเดียมาแต่เดิม แล้วแพร่หลายเข้าสู่ชวา มลายู ในช่วงที่อาณาจักรศรีวิชัยกำลังรุ่งเรือง ถ้าพิจารณาดูท่ารำแม่บทของโนราชาตรี จะเห็นได้ว่าหลายท่าคล้ายกับ “ท่ากรณะ” ในคัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ และคล้ายกันมากกับท่ารำในแผ่นศิลาจำหลักที่ บุโรพุธโธ ในเกาะชวาภาคกลาง

 

นอกจากนั้นวิธีการเล่นของหุ่นละครชาตรี ยังคล้ายคลึงกับละครประเภทหนึ่งของอินเดีย ซึ่งเล่นอยู่ตามแคว้นเบงกอลในสมัยโบราณที่เรียกว่า “ยาตรา” ก็ได้ จากหลักฐานนี้พอจะยืนยันได้ว่า โนรา เป็นอารยธรรมของอินเดียภาคใต้ที่เข้ามาทางแหลมมลายูและภาคใต้ของไทย