กระทรวงพลัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ตั้งเป้าเดินหน้าโครงการ ปลูกป่า 1 ล้านไร่ ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตันต่อปี ในปี 10 ข้างหน้า
“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนและอากาศแปรปรวนเกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นจากทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศพยายามช่วยกันลดก๊าซคาร์บอนฯลง และประกาศจะเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutral) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593)
สำหรับประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนฯ 300-400 ล้านตันต่อปี และมีภาระต้องจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นมูลค่า 2,000 บาทต่อตัน หรือคิดเป็น 7-8 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นการปลูกป่า 1 ล้านไร่ จะช่วยลดคาร์บอนฯได้ 1.2 ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ในภาคพลังงานซึ่งปล่อยคาร์บอนฯสูง ก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่ง กฟผ.จะเป็นต้นแบบการรองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) จะต้องมีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อลดภาวะโลกร้อนและเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยเฉพาะโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-floating solar hybrid) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตจะต้องผลิตให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามต้องการให้การลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ให้ตระหนักถึงปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและช่วยกันปลูกป่า เพื่อคนรุ่นหลังจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน “บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “ EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ( พ.ศ. 2593 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า) ด้วยกลยุทธ์ Triple S ใน 3 ด้าน ได้แก่
1.การปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นด้วยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid โดยคาดว่าจะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวเพิ่มเป็น 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ. 2580) จากเดิมภาครัฐให้ผลิตเพียง 2,725 เมกะวัตต์
ด้านที่ 2.การเพิ่มปริมาณดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี (ค.ศ.2022-2031 หรือ พ.ศ.2565-2574) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนฯปริมาณ 3.5-7 ล้านตันในปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ.2588)
และด้านที่ 3 ใช้กลไกสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนฯ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5, โครงการห้องเรียนสีเขียว, การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)เบอร์ 5, บ้านและอาคารเบอร์ 5 และการให้คำปรึกษาด้านพลังงาน เป็นต้น
“การดำเนินงานปลูกป่าเพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน พ.ศ.2565-2574 โดยจะปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ เพื่อดูดซับเก็บคาร์บอน ให้ได้ 23.6 MtCo2 แบ่งเป็นป่าเศรษฐกิจ 20% ป่าชุมชน 5% ป่าชายเลน/ป่าทะเล 20% และป่าอนุรักษ์ หรือป่าต้นน้ำ 55%” ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าว
ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินการในโครงการชดเชย และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้โดยส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โครงการห้องเรียนสีเขียวมากกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ บ้านและอาคารเบอร์ 5 ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน และวางการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวสีเขียว