“แท็กซี่” นับเป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมทางหนึ่งของคนกรุง ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา แท็กซี่นับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากทั้งการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างระบบคมนาคม การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าเมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 ที่ผ่านมา รัฐจะได้มาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับกลุ่มแท็กซี่ และวินมอไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ในพื้นที่29 จังหวัดสีแดง โดยเฉพาะพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงซึ่งจะได้รับเงินเยียวยา 2 เดือน เดือนละ5,000 บาท รวม 10,000 บาท เฉพาะผู้ที่อายุเกิน 65 ปีก็ตาม
ทั้งที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการแท็กซี่จำนวนมากในกทม.และปริมณฑล จากสถิติจำนวนรถแท็กซี่ของกรมขนส่งทางบก พบว่ามีรถแท็กซี่จดทะเบียนสะสมตั้งแต่เดือนม.ค.48 – พ.ค.63 รวม 131,801 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดย วาศินี กลิ่นสมเชื้อ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. ม.มหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันรถแท็กซี่มิเตอร์ในกรทม. แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ แท็กซี่ส่วนบุคคลและแท็กซี่ให้เช่าของกลุ่มสหกรณ์ ขณะที่มีจำนวนคนขับไม่ทราบแน่ชัด
แต่คาดว่าในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีอยู่ประมาณ 200,000 คน และส่วนใหญ่พบเป็นคนขับแท็กซี่เช่าจากกลุ่มสหกรณ์ หรือบริษัทมากกว่ามีรถแท็กซี่เป็นของตนเอง
โดยเฉลี่ยต้นทุนรถเช่ารายวัน ตกประมาณ 1,200 บ. ซึ่งทำให้ต้องขับรถไม่ต่ำกว่าวันละ 10-12 ชม. บางรายขับตลอด 7 วัน หยุดเพียง 1-2 วันต่อเดือน หรือหยุดเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยหนัก
และพบว่า 1 ใน 3 มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดย 19.7% ของคนขับแท็กซี่มีโรคประจำตัว และปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ความเครียดจากปัญหาการจราจรและรายได้ลดลง
ในจำนวนดังกล่าวพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี ด้านสิทธิการรักษาพยาบาล ส่วนใหญ่ใช้สิทธิบัตรทอง ไม่มีหลักประกันด้านอื่น (เช่น การว่างงาน สงเคราะห์บุตร เสียชีวิต)
นอกจากนั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างๆ เช่น การใช้สิทธิข้ามเขต กฏระเบียบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างของสังคม เช่น รายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
“อนุวัตร ยาวุฒิ” ประธานชมรมแท็กซี่ เล่าว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากที่มีคนขับแท็กซี่อยู่ในระบบ 8-9 หมื่นคน ตอนนี้เหลือเพียง 2-3 หมื่นคนเท่านั้น และเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในหลายด้าน ทั้งการปิดสนามบินไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามา ซึ่งตรงนี้คือรายได้หลักของแท็กซี่
รวมทั้งการปิดสถานบันเทิงตอนกลางคืน ทำให้ไม่มีลูกค้า จึงต้องมาขับทับซ้อนกับกะกลางวัน หรือแม้แต่ทัศนคติของสังคม ที่อาจมองว่าคนขับแท็กซี่เป็นกลุ่มที่ไร้การศึกษา เป็นคนรากหญ้า มีภาพลักษณ์ไม่ดี
เช่นเดียวกับลักษณะการทำงานที่ต้องใช้เวลาในการทำงานหลายชั่วโมงต่อวัน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพหรือมีเวลาให้กับครอบครัว และทุกวันนี้ในกลุ่มแท็กซี่กันเองยังไม่มีใครควบคุม และไม่มีหน่วยงานอะไรมาบริหารจัดการอย่างชัดเจน
ขณะที่ รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. กล่าวว่าประเด็นปัญหาดังกล่าว ยังเป็นผลพวงไปยังปัญหาอื่นๆ เช่น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ฯลฯ
และสะท้อนให้เห็นปัญหาใหญ่ 2 ประการคือ 1) คุณภาพชีวิตและการเข้าถึงบริการสุขภาพ 2) คุณภาพและประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะและคุณภาพชีวิตของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การยกระดับบริการของ “แท็กซี่” จะช่วยพัฒนาไปสู่การมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ โดยการกำหนดคุณสมบัติของคนขับแท็กซี่ การคัดกรอง/ทดสอบสมรรถภาพก่อนออกให้บริการ
การสนับสนุนระบบแท็กซี่ทางเลือก เช่น การบริการแท็กซี่สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ นักเรียน ฯลฯ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ สังคมมีระบบสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การคมนาคม การขนส่งที่ดีให้กับประชาชน