ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กับบทบาทนักพัฒนา ผู้ที่คิดถึงความอยู่รอดบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการรองรับ โดยมองสังคมและสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสิ่งขับเคลื่อนความยั่งยืน ขณะที่ประสบการณ์ทางการเมืองท้องถิ่น ที่เข้าไปทำงานเพื่อสังคม กลายเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาฯโดยมีส่วนทำให้สังคมและโลก ดีขึ้น
การเข้าไปทำงานหลากหลายภาคส่วน เริ่มจากงานวิชาการในฐานะอาจารย์ เป็นนักธุรกิจ ทายาทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุด กับการทำงานการเมืองท้องถิ่น ในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ทำให้ ‘ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์’ หรือที่ใคร ๆ ต่างเรียกว่า ‘ดร.ยุ้ย’ มองเห็นสังคมภาพกว้าง ต่อจิ๊กซอว์แห่งการพัฒนาเมืองยั่งยืน สังคมเปี่ยมสุข สิ่งแวดล้อมดีตอบโจทย์ทิศทางโลก ทำให้เมืองน่าอยู่ ว่า ต้องเริ่มต้นจากการเข้าไปแก้ต้นตอของปัญหา นั่นคือ ‘ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ไม่เท่าเทียม’ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นชัดในชุมชนเมือง
ดร.ยุ้ย เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเรียนปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทด้านการเงินที่ University of California at Riverside และปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ Claremont Graduate University โดยได้รับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษากลับมา ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา รวมถึงการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน
จากอาจารย์มหาวิทยาลัย ก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจ ในฐานะทายาทรุ่นสองของบริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หลังการจากไปของผู้พ่อ (ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์) ทำให้ดร.ยุ้ยเข้ามาบริหารธุรกิจเต็มตัว
ดร.ยุ้ย ยังมีอีกหลายบทบาทไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และนักพัฒนานโยบาย เธอคือผู้อยู่เบื้องหลัง นโยบาย 200 ข้อ ของผู้ว่าฯชัชชาติ รวมถึงการเป็นแม่ของลูก ๆ
โดยไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ดร.ยุ้ย ก็ทำอย่างเต็มที่ โดยมีความ ‘ยึดมั่นว่า “สิ่งที่ทำให้ดี จะไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิก’
เหมือนอย่าง ‘โครงการบ้านร่วมทางฝัน’ ซึ่งมีโมเดลคล้าย ๆ กับการทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) แต่เป็นสินค้าขนาดใหญ่ คือทำโครงการขายบ้าน แล้วนำกำไรที่ได้ไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลรัฐ โดยเริ่มต้นโครงการฯตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ยังทำต่อเนื่องมายาวนานมากกว่า 20 ปี มีการพัฒนาโครงการไปแล้ว 6 โครงการ ปัจจุบันนำเงินไปบริจาคให้โรงพยาบาลรัฐแล้ว 4 โครงการ มูลค่า 190 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายรวมเงินบริจาคที่ 460 ล้านบาท
“จุดเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อนที่ริเริ่มโครงการบ้านร่วมทางฝัน ด้วยการบริจาคกำไรจากการขายบ้านในโครงการบ้านร่วมทางฝัน ให้กับโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากเห็นภาพความอัตคัดในโรงพยาบาล เมื่อครั้งได้เฝ้าคุณพ่อที่ป่วยโรคมะเร็ง รักษาตัวนานกว่า 1 ปี และหลังจากนั้นก็เข้าๆ ออก ๆ โรงพยาบาลรวม ๆ แล้วก็เกือบ 3 ปี ซึ่งภาพที่เห็นคือความหนาแน่นของคนที่เข้ามารักษา การรอคิวนาน และการขาดแคลนเครื่องมือที่เพียงพอในสมัยนั้น”
นั่นคือสิ่งพิสูจน์ได้ว่า เมื่อเริ่มต้นทำอะไรแล้ว ต้องทำต่อเนื่อง จนโครงการเติบโต พัฒนาตั้งเป็นมูลนิธิ ซึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนของแนวคิด การบริจาคอย่างยั่งยืน โดยผสมผสมผสานกับความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
โดยโครงการดังกล่าวได้พัฒนาบ้านในราคาที่เอื้อมถึงแข่งขันในตลาดเช่นเดียวกันกับโครงการทั่วไป ทำให้ผู้มีส่วนร่วมในโครงการมีความรู้สึกได้ส่งต่อคุณค่าร่วมทำบุญสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม ทั้งผู้พัฒนาโครงการ ทีมงานทุกฝ่าย ผู้ซื้อ ร่วมทำบุญในมิติที่แตกต่างกันออกไป
-มองธุรกิจ กับการทำเพื่อสังคมต้องผสมผสานเข้าด้วยกัน
ดร.ยุ้ย บอกว่า ผ่านมากว่า 20 ปีโครงการบ้านร่วมทางฝันยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ซึ่งต้องแก้เกม สำหรับโครงการอื่นของเสนา ด้วยการออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ที่ไม่ต้องการมีบ้าน หรือไม่สามารถใช้เงินซื้อของขนาดใหญ่ หรืออยากมีบ้านแต่ผ่อนไม่ไหว ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ ‘Livnext เช่าออมบ้าน’ นวัตกรรมทางการเงินสำหรับคนที่อยากเป็นเจ้าของบ้าน โดยไม่ต้องชำระเงินดาวน์ ไม่ต้องรออนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถเลือกโครงการเสนา ที่ต้องการได้ โดยทำสัญญา เช่าออม ก็ย้ายเข้าอยู่ได้ และยังสามารถโอนสิทธิ์เปลี่ยนมือได้ ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
ดร.ยุ้ย กล่าวว่า เช่าออมบ้าน เป็น Social benefit ที่สร้าง win win ทั้งในแง่ของคนทำธุรกิจ และลูกค้าที่อยากมีบ้าน แต่รายได้อาจจำกัด นวัตกรรมนี้เป็นการนำปัญหาคนที่กู้ไม่ผ่าน มาเช่าบ้านกับเรา เพียงจ่ายค่าเช่า เท่ากับมีเงินออม ไว้หักเงินต้นเมื่อพร้อมกู้สินเชื่อบ้าน ไม่ต้องชำระเงินดาวน์ ไม่ต้องรออนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถเลือกโครงการเสนาที่ต้องการได้
“ส่วนตัวรู้สึกว่าถ้าเราจะไปนั่งคิดว่าต้องทำเรื่องความยั่งยืน ทำ ESG นะ เพราะโลกบอก แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องการกำไรด้วย มีใครไม่ต้องการกำไรบ้าง ฉะนั้นเลยคิดว่ามันต้องไปด้วยกันคือ ธุรกิจกับการทำเพื่อสังคมและโลกต้องไปด้วยกันได้ ฉะนั้นการทำให้คนรายได้น้อย เข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ก็เป็นโจทย์ทางธุรกิจเหมือนกัน”
10 กว่าปีอสังหาฯ รายแรกเริ่มใช้โซลาร์เซลล์
ต่อยอดสู่ครัวเรือนนำคาร์บอนเครดิต
แลกคะแนนซื้อของในห้าง
ไม่เพียงเท่านั้น จากประสบการณ์กว่า 13 ปีที่แบรนด์เสนาคิดค้นริเริ่มและพัฒนาระบบโซลาร์เซลล์โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรเพื่อใช้ในบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม และอาคารพาณิชย์ เพื่อให้ลูกบ้านประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงมีระบบรองรับเทคโนโลยีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ที่บ้านแบบไม่ต้องเปลืองค่าไฟบ้าน
ดร.ยุ้ย บอกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เสนามีความโดดเด่น ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจ และไม่มีทางที่จะล้มเลิกโครงการเหล่านี้ เพราะทำให้เสนาโดดเด่น และเรื่องโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
ล่าสุด กำลังเริ่มโครงการ ‘ตลาดคาร์บอนครัวเรือน’ ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ชวนลูกบ้านที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ แปลงการใช้ไฟฟ้า มาเป็นคาร์บอนเครดิต และปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปแลกคะแนน The1 card เพื่อใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อของในเครือเซ็นทรัลต่อไปได้ แต่ความท้าทายตอนนี้คือ ลูกบ้านยังไม่เข้าใจ ก็เลยต้องคิดต่อว่าทำอย่างไรที่เสนาจะไปชวนลูกบ้านเข้าร่วมโครงการได้ เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าเขาได้ประโยชน์จากตรงนี้ ทำไมเขาจะไม่ร่วม และเชื่อว่าลูกบ้านเสนาหลายคนเป็นลูกค้าเซ็นทรัล
-ต้องยึดมั่นในความเชื่อ
“ที่ลูกบ้านยังไม่เข้าใจ มองว่าอย่างแรก อาจยังไม่เข้าใจที่แท้จริงว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร และไม่รู้ว่าจะต้องนำไฟฟ้าไปแลกเป็นคะแนนอย่างไร ก็จะพยายามทำเรื่องนี้ต่อ เพราะยึดมั่นว่าเป็นสิ่งดี เราคิดว่ามันดี มันก็ต้องทำได้ ทำไมจะทำไม่ได้ มีเหตุผลอะไร จึงไม่ยอมล้มเลิกแม้จะทำมาแล้วสักพักก็ตาม”
ดร.ยุ้ย กล่าวอีกว่า การเป็นนักพัฒนา ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่ทำอย่างดี คิดว่าผู้บริหารมีความรู้ทุกคน แต่ถ้าไม่สนใจกับเรื่องเหล่านั้น หรือไม่ใส่ใจ มันก็ไม่สำเร็จ เราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง แต่เราแค่เอาจริงเอาจังกับบางเรื่อง อย่างเรื่องเทคโนโลยีก็จะเอาจริงเอาจังกับเรื่อง Green ดังนั้นเรื่องพวกนี้ถ้าจะเอาจริงเอาจังแล้วเราก็ต้องรู้ เราก็จะสามารถเอาเรื่องที่ดีๆ มาใช้ให้กับลูกค้าและซัพพลายเชนเราได้
-ทำงานสไตล์นักวิชาการ ธุรกิจที่มีข้อมูลลึกเชิงประจักษ์
ดร.ยุ้ย บอกว่า การทำงานของเราอาจจะทำงานสไตล์วิชาการ เพราะเป็นอาจารย์นาน เมื่อเราคิดว่าอยากให้องค์กรเป็นแบบไหน ก็จะต้องศึกษาค้นคว้ามาก ๆ อย่างเรื่อง ESG คืออะไร SDGs 17 ข้อมีอะไรบ้าง ถ้าเราเข้าใจมันถ่องแท้ แล้วเอามาผนวกกับธุรกิจได้ ปกติผู้บริหารไม่มีเวลามาลึกซึ้งกับสิ่งนี้ด้วยตนเอง อย่างการเป็นเจ้าแรกในการเริ่มโซลาร์เซลล์ภาคครัวเรือน ตอนนั้นทำไปก็ไม่เห็นมีใครชอบกำไรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่การเป็นอาจารย์ของเราก็ช่วยให้เราไม่ยอมแพ้
“สิ่งที่เราเชื่อมั่น เดินอยู่ก่อนคนอื่น เรื่องความยั่งยืนและโลกร้อน โดยการพัฒนาโครการโซลาร์ เป็นรายแรก เพราะมีข้อมูลผลการวิจัยที่เป็นรูปธรรมรองรับ โดยศึกษาว่าประเทศอื่นเป็นอย่างไร สมมติถ้ามีคนบอกว่ากินน้ำชาสิ ดีต่อร่างกายนะ กินแล้วเอาไปขายด้วย แต่เราไม่ได้มีพื้นฐานวิชาการ หรือไม่ได้ศึกษาเลยว่ามันดีอย่างไร แค่ฟังเขาบอกกล่าวก็เชื่อไปแล้ว และเอาไปขาย ปรากฏว่าขายไม่ดี เจ๊ง สุดท้ายก็ไม่รอด
แต่ในมุมกลับกัน ถ้าเขามาบอกเราว่าน้ำชานี้มันดีนะ ถ้าคนไทยได้ดื่มจะช่วยเรื่องสุขภาพ แล้วเราไปศึกษาลงลึกเลยว่ามันดีอย่างไร สถานการณ์สุขภาพคนไทยเป็นแบบไหน ณ ตอนนั้น แล้วน้ำชาสกัดมาจากพืชหรือใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง สรรพคุณแต่ละตัวเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถตอบคำถามนี้ได้ เรื่องนี้ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ พอเรารู้ว่ามันดีแน่ ๆ ทำไมคนจะไม่ซื้อล่ะ การยึดมั่นแบบนี้มันดีเพราะเรามีความซาบซึ้งกับน้ำชาว่ามันคือของดีจริง ๆ”
-ปัญหาโลกร้อน เข้าไปนั่งในใจ คนเปราะบางรับผลกระทบมากที่สุด
จากประสบการณ์การเมือง ตอนไปช่วยหาเสียง ทำให้เห็นว่าโลกร้อนจะเป็นความเสี่ยงกับคนที่เปราะบางมากที่สุด คนรวยกระทบไม่มาก เพราะว่าร้อนมากก็เปิดแอร์แรงขึ้น น้ำท่วมก็หนีไปอยู่อีกจังหวัด ช่วงไหนอากาศร้อนเกินไปก็หนีไปเที่ยวต่างประเทศ นี่คือชีวิตคนมีเงิน แต่คนที่ลำบากอยู่แล้วจะหนัก อย่างคนที่น้ำท่วมบ้าน ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนที่มีบ้านใหญ่
ดังนั้นเลยรู้สึกว่าเราเป็นคนหนึ่งในสังคม ถ้าเราช่วยได้ในจุดที่เรายืนอยู่ ในฐานะนักพัฒนา ถ้าสามารถช่วยโลกให้ดีขึ้นได้ จากสิ่งที่เราทำก็ควรจะทำ อย่างเสนาขายบ้าน คอนโดอยู่แล้ว ก็ขายไป เพียงแต่เราโฟกัสเรื่องโลกมากขึ้น ลูกค้าไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรเลย ลูกค้าได้ด้วย ประหยัดค่าไฟ ประหยัดเงิน มันต้องวินทุกฝ่าย ซึ่งอินเนอร์ก็มาจากความเห็นและความเข้าใจ
-ยิ่งได้ทำงานการเมืองยิ่งเห็นภาพสังคมกว้างขึ้น
ดร.ยุ้ย เผยอีกว่า ในช่วงสมัยเรียน การเรียนเศรษฐศาสตร์ ทำให้เห็นภาพความไม่เท่าเทียมในสังคมประมาณหนึ่ง แต่พอได้มีประสบการณ์ด้านการเมือง จากการร่วมทีมนโยบายเพื่อนของผู้ว่าฯชัชชาติ ทำให้ได้เห็นภาพสังคมกว้างขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่ความไม่เท่าเทียม แต่ยังมีภัยคุกคามต่าง ๆ ด้วย ก็เลยทำให้เข้าใจมิติความยั่งยืน ถ้าไม่ได้มีประสบการณ์การเมืองจะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า SDGs17 ข้อคืออะไรเท่าวันนี้
“พอเรารู้ เราก็พยายามเอามาผูกกับธุรกิจเรา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ถามว่าต้องแยกออกจากธุรกิจไหม ไม่จำเป็น เราก็ทำธุรกิจในแบบที่เราจะต้องการโฟกัส นักธุรกิจทุกคนต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อทำให้ตัวเองแข่งขันกับคนอื่นและชนะได้ เพียงแต่เราต้องโฟกัสชนะด้วย ว่าอยากชนะเรื่องอะไร เรื่อง Green ไหม หรือเรื่อง Social”
อย่างไรก็ตาม ดร.ยุ้ย ทิ้งท้ายว่า เพราะอนาคตจากนี้ อีก 10-20 ปี อาจตอบยากว่าเสนาจะเป็นทิศทางไหน เพราะโลกมีความเปลี่ยนแปลงทุกปี ตราบใดที่คนยังอยู่ เราก็ต้องขายของภายใต้โลกเดือดแบบนี้ แต่เราก็ต้องพยายามแก้ในสิ่งที่แก้ได้ เช่น นำ EV (ยานยนต์ไฟฟ้า) เข้ามาในธุรกิจ นำอุปกรณ์โซลาร์เซลล์มาติดตั้งโครงการ ขายระบบชาร์จ EV การก่อสร้างก็อาจจะใช้ปูนคาร์บอนต่ำ ใช้สีรักษ์โลกมากขึ้น การทำกิจกรรมทุกอย่างเพิ่มคาร์บอนให้โลกอยู่แล้ว แม้แต่หายใจก็ยังเพิ่ม แต่เราจะทำอย่างไรให้กิจกรรมของเราลดคาร์บอนได้มากที่สุด พยายามทำอะไรที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เรื่องโดย : บุษกร สัตนาโค