Graphenix ส่งนวัตกรรม “ผ้าเส้นใยกราฟีน” วัสดุแห่งอนาคตสู่ตลาดเสื้อผ้าแบรนด์แรก ในประเทศไทย ชู 5 จุดเด่นกระตุ้นการผลิตออกซิเจนขณะสวมใส่ กันรังสียูวี 99.9% เบาสบาย แอนติแบคทีเรีย กระบวนการผลิตลดคาร์บอน
เสื้อผ้าสิ่งทอสมัยใหม่ นอกจากช่วยห่อหุ้มร่างกาย ส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ ปัจจุบันเริ่มมีฟังก์ชันอื่น ๆ เข้ามาเสริมไม่ว่าจะเป็นระบายความร้อน หรือกักเก็บความร้อนได้ ป้องกันเชื้อโรค และแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ เหล่านี้เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาสักระยะ เนื่องจากแฟชั่นสิ่งทอ มีการแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา จะเห็นว่าสินค้าจากจีน รวมถึงเวียดนาม หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นต่อเนื่อง
ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท พาลาดิน เวิร์คแวร์ จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป แบรนด์ ‘Blue Bear’ และ ‘Graphenix’ ประเมินว่า ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดเสื้อผ้าค่อนข้างเข้มข้น คาดว่าปี 2568 เป็นต้นไป ไทยน่าจะมีสินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศเข้ามามากกว่าส่งออก เนื่องจากการผลิตสินค้าในประเทศต้นทุนสูงมากกว่าการนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน เวียดนามและอินเดีย เนื่องจากเสื้อผ้าลอกเลียนแบบง่าย ผลิตไม่ยาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการเสื้อผ้าในไทย ไม่สามารถหาสินค้าใหม่ ลอกเลียนแบบยาก หรือมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่โดนใจผู้บริโภค ก็ยากจะแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้
Graphenix ใช้เส้นใยกราฟีน ออกสู่ตลาดเสื้อผ้าแบรนด์แรกในไทย
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บริษัท เฮลท์แคร์ ซัพพลาย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด อยากจะยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้วยการเริ่มนำนวัตกรรม ‘เส้นใยกราฟีน’ ซึ่งเป็นวัสดุแห่งอนาคตสู่การผลิตตลาดเสื้อผ้าแบรนด์แรกในประเทศไทยที่ใช้เส้นใยกราฟีน ในชื่อ Graphenix
ยุทธนา กล่าวว่า เดิมบริษัทผลิตเสื้อผ้ายูนิฟอร์ม เมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด ทำให้พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) ตลาดชุดยูนิฟอร์มจึงชะลอตัวลง ทำให้บริษัทต้องปรับโมเดลธุรกิจด้วยการหานวัตกรรมเพื่อสร้างตลาดใหม่ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพ
ชูนวัตกรรมเสื้อผ้าดูแลสุขภาพผู้สวมใส่
“หลังโควิดทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน จึงนำมาสู่การออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สองเรื่องนี้ โดยการปรับโมเดลธุรกิจมาผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบ function garment นับเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจ”
ยุทธนา ระบุว่า จากการปรับโมเดลธุรกิจดังกล่าว ทำให้บริษัทพัฒนานวัตกรรมผ้าจากเส้นใยกราฟีน หรือ ‘ผ้ากราฟีน’ แบรนด์ Graphenix แบรนด์แรกของไทย จากธาตุใหม่ของโลกที่สกัดมาจากแร่ธาตุกราไฟท์ โดยใช้เวลาราว 2 ปีในการวิจัยพัฒนา และทดสอบการใช้งานเส้นใยกราฟีน มาทอเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ซึ่งกราฟีนได้รับการยอมรับว่าเป็นวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานด้านการดูแลสุขภาพ จากคุณสมบัตินำไฟฟ้า และยืดหยุ่นสูง จึงเหมาะที่จะนำมาผลิตเป็นชุดกีฬาและฟิตเนส
กราฟีน ถูกค้นพบเมื่อ 12-13 ปีก่อน
เดิมราคาแพงมากกว่าเพชร
“วัสดุกราฟีนถูกค้นพบเมื่อ 12-13 ปีที่แล้ว โดยผู้ที่คิดค้นคนแรกเป็นชาวต่างชาติที่ได้รางวัลโนเบล ซึ่งตอนนั้นราคากราฟีนกิโลกรัมละล้านกว่าบาทเป็นวัสดุที่แพงสุดในโลก แพงมากกว่าเพชร ด้วยความที่สกัดยาก เพราะกราฟีนเหมือนไส้ดินสอของกราไฟท์ และก้อนหินกราไฟท์สกัดออกมาเป็นกราฟิน มันคือชั้นของอะตอมคาร์บอนเดี่ยวที่จัดเรียงเป็นรูปหกเหลี่ยมซึ่งมองเห็นได้คล้ายกับรังผึ้ง สามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย” ยุทธนา อธิบาย
เขายังกล่าวว่า อย่างช่วงต้น ๆ ที่มีการค้นพบ มีการนำกราฟีนไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ยานยนต์ อุตสาหกรรมยานอวกาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หลังจากผ่านมา 6-7 ปี เมื่อความนิยมในการใช้แพร่หลายมากขึ้น จึงทำให้ราคาถูกลง ส่งผลให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าในยุโรป อเมริกา ไต้หวัน จีน เริ่มหันมาใช้กราฟีนแพร่หลายมากขึ้น อย่างแบรนด์สปอร์ตระดับโลกเริ่มมีนวัตกรรมนี้
“กราฟีนมีคุณสมับัติที่ดี หากนำมาใส่ในเส้นใยสิ่งทอ คิดว่าจะเป็นสิ่งทออนาคตของโลก ในประเทศไทยมีผู้ที่นำกราฟีนมาใช้บ้างแต่หากเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า บริษัทถือเป็นรายแรกที่ทำเรื่องนี้ โดยทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินประสิทธิภาพ โดยได้รับงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดสรรทุนวิจัย และสร้างนวัตกรรม จนผลงานวิจัยประสบความสำเร็จผลิตออกมาเป็นสินค้า เสื้อ กางเกง แลกกิ้ง หมอน ผ้าห่ม หมวก ออกสู่ตลาดแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา”
ใช้เวลาพัฒนา 2 ปี ‘ทุกอย่างคือการลงทุน’
ยุทธนา กล่าวต่อว่า เส้นใยกราฟีนที่บริษัทนำมาใช้จะนำมาผสมกับการทอเส้นใยที่ได้จากการรีไซเคิลขวดพลาสติก (rPET) คิดเป็นสัดส่วน rPET เกือบ 90% และมีส่วนผสมของกราฟีน 1% ที่เหลือเป็นพวกยางยืดต่าง ๆ เบื้องหลังการทำงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าลงทุนสูงมาก ทั้งการนำเข้าวัสดุกราฟีนจากยุโรป เยอรมนี เมื่อได้วัสดุมาก็ต้องสกัด และส่งไปทดสอบในต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีห้องแลปที่พร้อมสำหรับทดสอบอินฟราเรด จากนั้นกระบวนการผลิต การทอต่าง ๆ จะอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดจนกลายเป็นสินค้าที่พร้อมลุยตลาดเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน
วัสดุสิ่งทอแห่งอนาคต ยกระดับสุขภาพคนไทย
ทั้งนี้ผ้าที่มีส่วนประกอบของกราฟีนจะมีจุดเด่นหลายด้าน จนเรียกว่าเป็น ‘วัสดุแห่งอนาคต’ ยุทธนา บอกเช่นนั้น โดยเขาอธิบายจุดเด่น ประกอบด้วย
1.ผ้ากราฟีนทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น โดยเฉพาะระบบเส้นเลือดฝอย เพียงแค่ 10 วินาทีที่สวมใส่ โดยจะส่งผ่านอินฟราเรทเข้ามาเหมือนร่างกายได้รับแสงแดดตอนเช้าช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีออกซินเจนเพิ่มขึ้น เลือดลมไหลหมุนเวียนดี
2.แอนติแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งเรื่องนี้มีอยู่ในคุณสมบัติของวัสดุเองโดยอัตโนมัติ
3.ยูวีโปรเทคชั่น 99.9% ทั้ง ยูวีเอ ยูวีบี สามารถป้องกันได้หมด
4.กราฟีนเป็นธาตุที่เบาที่สุดในโลก ดังนั้น เมื่อสวมใส่แล้วจะไม่หนาหรือหนัก ระบายอากาศได้ดี ปรับอุณหภูมิได้ในตัว เป็น ‘ไครเมสคอนโทรล’ เช่น ถ้าใส่ในอากาศร้อนก็จะรู้สึกเย็น หรือใส่ในอากาศเย็นก็จะรู้สึกอุ่น และยังลดไฟฟ้าสถิตได้ โดยคุณสมบัติเหล่านี้จะอยู่ตลอดอายุการใช้งานเลย เพราะฝังอยู่ในไฟเบอร์
5.ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทางสถาบันสิ่งทอคำนวนแล้วพบว่า ลดการปลดปล่อยคาร์บอน เฉลี่ยสำหรับการใช้ผ้า 1 เมตร ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 10 กิโลคาร์บอน โดยได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ECO Tech จากยุโรป สะท้อนถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยุทธนา ระบุว่า สินค้าที่ผลิตได้ขณะนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรเพิ่มเติม และเริ่มนำมาพัฒนาและจำหน่าย เลกกิ้ง เพิ่มส่วนผสมคอลลาเจนแบรนด์แรกของไทย ตัวละ 2,000 บาท และผ้าห่มจากกราฟีน โดยผ่านช่องทางจำหน่ายออนไลน์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชต่าง ๆ
ร่วมกับโรงพยาบาลรัฐ ผลิตผ้ารัดขาแก้ปัญหาเส้นเลือดขอด
ล่าสุด บริษัทยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในการพัฒนา ‘ผ้ารัดขาแก้ปัญหาเรื่องเส้นเลือดขอด’ โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ออกแบบ และนำไปจดสิทธิบัตร ส่วนบริษัทมีวัตถุดิบผ้ากราฟีน และมีกระบวนการตัดเย็บ และตรวจสอบ จึงพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีสิทธิบัตรร่วมกัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบทางคลินิก คาดว่าจะเสร็จในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2567 และเริ่มวางตลาดได้ช่วงธันวาคมถึงต้นปี 2568 โดยมีเป้าหมายรายได้ปีแรก 50 ล้านบาท
“เราจะทำตลาดในประเทศก่อน เพราะผ้ารัดขาแก้เส้นเลือดขอดมีตลาดที่กว้างมาก จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่สามารถเบิกในประกันสังคมได้ ยิ่งกว่านั้น เรามองถึงประโยชน์ที่สำคัญจากการพัฒนานวัตกรรมนี้จะช่วยให้ไทยผลิตสินค้าได้เอง ทดแทนการนำเข้า ทั้งยังช่วยให้ราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง และยังมีคุณสมบัติดีขึ้น”
อยู่ระหว่างพัฒนา ‘เสื้อกันรังสี’ สำหรับห้องเอ็กซ์เรย์
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนา ‘เสื้อกันรังสี’ สำหรับใช้ในห้องเอ็กซ์เรย์ หากสำเร็จจะสามารถใช้แทนเสื้อตะกั่วที่มีน้ำหนักเป็น 10 กิโลกรัมได้ เพราะเสื้อจากเส้นใยกราฟีนน้ำหนักเหลือไม่ถึง 1 กิโลกรัม และป้องกันได้ดีเกือบเท่าตะกั่ว
ทั้งนี้ วางเป้าหมายการการตลาดไว้ 3 ระยะ คือ 1.แนะนำสินค้าให้กับผู้บริโภคในประเทศก่อน โดยเฉพาะปีนี้กับปี 2568 ยอดขาย 50-100 ล้านบาท ระยะที่ 2 ขยายไปสู่ต่างประเทศ ผ่านตัวแทนจำหน่าย ระยะที่ 3 จำหน่ายวัตถุดิบ หรือขายผ้า ให้แบรนด์ต่างๆ ซื้อผ้าของบริษัทเพื่อนำไปตัดเย็บในแบรนด์ตัวเอง
ความท้าทาย แข่งกับสินค้าจีน
ยุทธนา ยังกล่าวถึงความท้าทายจากการใช้วัสดุกราฟีน คือ การใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีห้องแลปสำหรับรังสีอินฟราเรด ต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าทายคือวัสดุนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีที่คนอื่นจะทำไม่ได้ ในอนาคตจึงกังวลเรื่องการแข่งขัน
“เราทำได้ก็มีคนอื่นทำเหมือนกัน ที่น่ากลัวคือจีนจะทำแข่งกับเราไหม ถ้าเราไม่ทำ เขาก็จะทำ และยิ่งทำเร็วกว่าเราอีก นั่นจึงเป็นสิ่งที่ผมอยากสะท้อนว่า การสร้างแบรนด์แข่งขันในตลาดได้ยั่งยืนจะต้องมีคุณค่า มีจุดเด่น ต้องสร้างแบรนด์ให้ดี การออกแบบอาจจะสู้ได้ยาก เพราะสมัยนี้แบรนด์ไหน ๆ ก็ดีไซน์ออกมาได้ดี แต่ต้องเน้นฟังก์ชั่น”
มองเทรนด์เสื้อผ้า ผลิตจาก rPET รักษ์โลกได้จริงไหม?
เมื่อถามว่าเทรนด์การนำ rPET มาผลิตเสื้อผ้าเป็นเรื่องรักษ์โลกจริงไหม? ยุทธนา บอกว่า ตอนนี้ยุโรปประกาศแล้วว่า เสื้อผ้าที่มาจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกไม่รักษ์โลก เพราะใช้พลังงานในการเปลี่ยนจากขวดมาเป็นเส้นใย ปล่อยคาร์บอนมหาศาล อีกทั้งการรวบรวมขวดมาจากทุกที่นั้น ต้องไปเก็บจากแหล่งต่าง ๆ มีการขนส่ง ส่วนแปรสภาพต้องนำมาล้างใช้เครื่องมือ เครื่องจักรหลายกระบวนการ
สุดท้ายออกมาเป็นเสื้อ ก็ปล่อยคาร์บอนมหาศาลอยู่ดี ดังนั้นทางออกของเสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว มองว่า ก็อาจจะนำเสื้อเก่าเศษผ้าเก่ามาทำเป็นผ้าใหม่ เพราะการนำขวดมาทำเสื้อเป็นคนละอุตสาหกรรม
“ทำไมแฟชั่นเสื้อผ้าต้องไปเอาขวดมาทำทั้ง ๆ ที่ใช้พลังงานเยอะ ทางยุโรปจึงไม่แนะนำ ขณะที่ฝั่งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใช้ขวด เขายังมีนโยบายเก็บขวดเก่ามาทำขวดใหม่เลย ตอนนี้เมืองไทยก็มีนำเสื้อเก่ามาทำผ้าใหม่บ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก”
หมดยุคเทรนนิ่ง ต้องสร้างนวัตกรรม
เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืน
ยุทธนายังทิ้งท้ายถึงรัฐบาลว่า การสร้างนวัตกรรมใหม่ ส่วนใหญ่ไปอยู่กับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ แต่อุตสาหกรรมเก่าดั้งเดิม แทบไม่มีตัวช่วยเลย และทำอย่างไรที่รัฐจะเปลี่ยนจากการที่ไปสนับสนุนเรื่องการฝึกอบรม เช่น ให้คนตัดเย็บเร็วขึ้น ซึ่งหมดยุคไปแล้ว ต้องมาสนับสนุนเรื่องการทำห้องปฏิบัติการ ทำเรื่องนวัตกรรม การสร้างรูปแบบดีไซน์ หรือแพลตฟอร์มช่วยการทำงานต่าง ๆ ให้มีคุณค่าสูงขึ้น
“อย่างห้องทดสอบเรื่องอินฟราเรด ไม่มีห้องปฏิบัติการในไทยเลยสักแห่ง ในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันไหนก็ไม่มี ก็ต้องค่อย ๆ สร้างขึ้นมา ไทยยังขาดองค์ประกอบที่จะทำให้นวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น เรายังไม่พร้อม แต่ถ้าทำเหมือนเดิม เป็นเทรนนิ่งอย่างเดียว ก็ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน”