กระทรวงสาธารณสุขไทย มองการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญที่ ‘คน’ เป็นเรื่องแรก คนต้องมีสุขภาพดี ทัศนคติดี ไม่เครียด สภาพแวดล้อมดี ไม่มีมลพิษ
ประชากรทั่วโลกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนเมือง แต่ทรัพยากรด้านต่าง ๆ กลับมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการเมืองให้รองรับต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและทำให้เมืองเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง ไม่ได้มีเพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ต้องดี คนต้องมีสุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมดี ส่งผ่านสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมืองที่ยั่งยืน ‘คน’ คือหัวใจหลัก
สำหรับมุมมองด้านสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวบนเวทีเสวนา Pathways to a Sustainable Urban Future เมื่อไม่นานผ่านมานี้ ถึงเส้นทางสู่อนาคตเมืองที่ยั่งยืนว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาเมืองก็คือ ‘คน’ เพราะสิ่งที่จะทำให้เมืองยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับ ‘คน’ แล้วคนแบบไหนที่จะทำให้เมืองยั่งยืน คำตอบก็คือ คนที่มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีทัศนคติที่ดี ถึงแม้ว่าเราจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน แต่ถ้าคนที่อาศัยอยู่ทำให้เมืองไม่น่าอยู่ ก็จะไม่ยั่งยืน ดังนั้นในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจึงมองเรื่องคนเป็นหัวใจสำคัญ
กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม ที่ไม่ใช่เพียงการดูแลสุขภาพกาย เพื่อให้ประชาชนมีอายุยืนยาว และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งส่งเสริมสุขภาพจิต ลดภาวะความเครียด และเสริมสร้างสภาพจิตใจที่ดี ให้ประชาชนมีสติและวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตในสังคมเมืองยุคปัจจุบัน
คนยั่งยืน คือการมีชีวิตยืนยาว
ทั้งนี้ นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสุขภาพที่ผ่านมาพัฒนาเพื่อให้คนมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น อย่างคนอายุ 60 ปี มักจะเป็นวัยที่ต้องเกษียณไปพักผ่อน แต่ปัจจุบันคนอายุ 60 ปียังแข็งแรงอยู่เลย ด้วยระบบสาธารณสุขที่ทำให้คนมีชีวิตที่ยาวขึ้น
ที่ผ่านมาคนมักจะเจ็บป่วยจากการเป็นโรค หรือติดเชื้อ อาทิ วัณโรค อหิวาตกโรค แต่ปัจจุบันการเสียชีวิตโดยเฉพาะคนไทย มาจากปัจจัยหลัก 3 อย่างคือ 1.อุบัติเหตุ 2.โรคมะเร็ง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือด แล้วก็มีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อื่น ๆ เป็นต้น สาเหตุของการเกิดโรคเหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมทั้งนั้น โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ ทั้งมลพิษจากน้ำ มลพิษจากอากาศ ตลอดจนสภาพจิตใจ ภาวะความเครียด
“มลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วย และเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย”
นายแพทย์โอภาส ยังบอกด้วยว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มอุบัติการณ์การเสียชีวิต จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย คือ มลพิษทางอากาศ จำแนกสาเหตุเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้ถึง 8.2 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4 ใน 5 อันดับแรกเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
พัฒนาระบบขนส่ง แก้ปัญหาเมือง
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเขตที่มีการจราจรติดขัด มีทั้งที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ทำให้มีความหนาแน่นสูง สิ่งที่ต้องพัฒนาอาจเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวออกแบบผังเมืองที่ดี ต้องยึดประโยชน์ของ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อลดมลพิษทางอากาศ น้ำ เสียง สารเคมี ขยะ เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่พักผ่อน ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เอื้อต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
สุขภาพดี พฤติกรรมคนก็สำคัญ
อาหาร อารมณ์ อากาศ ออกกำลังกาย
แต่ทั้งนี้ คนเราจะมีสุขภาพดี ก็จากตัวของเรามีพฤติกรรมที่ดี นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญคือ อาหาร อารมณ์ อากาศ และออกกำลังกาย มีส่วนสำคัญ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ซื้ออาหารทาน มากกว่าทำอาหารเอง ทั้งสตรีทฟู้ดทั้งฟาสต์ฟู๊ด การบริโภคอาหารจำเป็นต้องบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งก็พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะรสชาดเหล่านี้คือความอร่อย ต่อไปนี้เราต้องคำนึงถึงการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และอร่อยควบคู่กับการออกกำลังกายให้มากขึ้น เพราะการมีสุขภาพดีช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลให้ลดลง และที่สำคัญ เมื่อสุขภาพกายดีแล้ว สุขภาพจิตก็ต้องดีด้วย เพราะปัจจุบันพบว่า คนไทยเครียดมากขึ้น เพราะการเสพโซเชียลมีเดียที่มากเกินไป ต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูล
มาตรการสาธารณสุขไทย
พัฒนาเมืองสู่ Green City Smart City
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อสุขภาพ อาทิ การส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ลดการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็ม โดยอาจร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพที่มีรสชาติอร่อย ราคาเหมาะสม และเข้าถึงได้โดยง่าย ควบคู่กับการส่งเสริมการออกกำลังกาย ผ่านการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสถานที่ออกกำลังกาย และการจัดให้มีมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดี โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำ และเสียง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาพ เช่น สวนสาธารณะ ทางเดิน และทางจักรยาน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง ออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ
ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาสภาพแวดล้อมภายในองค์กรให้เอื้อต่อสุขภาพ เช่น การจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกาย และการส่งเสริมกิจกรรมสุขภาพต่างๆ โดยอาจพิจารณามาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี สำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพของบุคลากร
“กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในเมือง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปสู่การมีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเมืองสู่ Green City Smart City ของกรุงเทพมหานคร” นายแพทย์โอภาส กล่าว