ส่อง 6 นวัตกรรมคืนชีพขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไอเดีย GEN Z แก้ปัญหาสังคม

ส่อง 6 นวัตกรรมคืนชีพขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไอเดีย GEN Z แก้ปัญหาสังคม

ทรู เปิดโชว์เคส 6 นวัตกรรมผลงานนักเรียนม.ปลาย-อุดมศึกษา ปลุกขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) คืนชีพ แก้ปัญหาสังคม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นจริงของคนกรุงเทพฯ

 

 

ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง เนื่องจากมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้ามากขึ้น เมื่อหมดอายุการใช้งาน หรือไม่ต้องการใช้แล้วจึงกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Waste (E-Waste) ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ ฯลฯ เหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ และปัญหาเชิงสังคมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ทั้งโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นทุกปี

จากสถิติและแนวโน้มของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยข้อมูลจาก Global E-Waste Monitor (GEM) พบว่าทั้งโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 62 ล้านตัน โดยในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาเป็นอเมริกา และยุโรป และจากข้อมูลล่าสุดมีเพียง 18% ของจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 

สำหรับข้อมูลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอันตรายจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 435,187 ตัน และคาดการณ์ว่าปริมาณจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปีด้วย

 

เทคคอมปะนีไทย พยายามจัดการ  e-Waste

ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะเทคคอมปะนีไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ได้กำหนดเป้าหมายเป็นองค์กรจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero e-Waste to Landfill) ภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากโครงการ ‘e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ’ ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำสมาร์ทโฟนเก่า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่เลิกใช้งาน มาทิ้งที่กล่องจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ ทรูช้อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทคทั่วประเทศแล้ว ยังได้จัดโครงการ e-Waste HACK BKK 2024 เพื่อมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ และเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้นำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ที่จะแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร 

ทรูจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 10 ปี 

ดร.ปิยาภรณ์ ภาสกานนท์ หัวหน้าสายงานด้านความยั่งยืนองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความมุ่งมั่นจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบครบวงจรมากว่า 10 ปี และในปีนี้ ได้ยกระดับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปอีกขั้น ด้วยการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เสนอไอเดียจากการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาต่อยอดเป็นนวัตกรรม กับโครงการ e-Waste HACK BKK 2024 ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ มีความเป็น Digital Talent เปี่ยมด้วยความรู้ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อมาผสมกับความตื่นตัว และใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการจุดพลังความเป็นนวัตกรในตัวเองที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง พัฒนาผลงานเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ซึ่งจะยังคงมีการติดตามและวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

 

แกะกล่อง 6 นวัตกรรมไอเดีย Gen Z 

สำหรับโครงการ e-Waste HACK BKK 2024 เป็นโครงการที่ทรูได้ร่วมมือกับ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท เอสเค เทส ไทยแลนด์ จำกัด บ่มเพาะเยาวชน จนคัดเลือกผู้ชนะโครงการที่มีไอเดียเจ๋ง และนำเสนอได้ดี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ทีม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 3 ทีมระดับอุดมศึกษา 

 

 

 

ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลชนะเลิศเป็นไอเดียพัฒนาเครื่องฟอกอากาศ สู่เครื่องดักจับคาร์บอน ของนักเรียนทีม One Day Miracle plus+ โรงเรียนวิสุทธรังษี จ.กาญจนบุรี ที่มองเห็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และทั่วโลก ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูล นักเรียนโรงเรียนวิสุทธรังษี บอกว่า 

กทม.ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 43 ล้านตันต่อปี และยังคาดว่าในปี 2573 กทม.จะปล่อยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเป็น 10 เท่า แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียงเล็กน้อย จึงได้ร่วมกันคิดไอเดียที่จะแก้ปัญหาเรื่องการปลดปล่อยก๊าซคารบอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพราะมองว่าการปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้แล้ว ต้องหาแนวทางอื่นร่วมด้วย 

และขณะเดียวกันก็มองการสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลกก็มีมากเช่นเดียวกัน จึงได้พัฒนาเครื่องฟอกอากาศ สู่เครื่องดักจับคาร์บอน ด้วยการนำเทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นก๊าซ Ethylene สำหรับภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเคมี พลาสติก และการผลิต ช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม 

 

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นไอเดียพัฒนาเครื่องกรองฝุ่น PM 2.5 ทีม Undustrial โรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี พัฒนาเครื่องกรองฝุ่นที่สามารถปรับความสามารถในการกรองอากาศตามค่าฝุ่นได้อัตโนมัติ พร้อมแอปพลิเคชัน สำหรับติดตามค่าฝุ่นตามสถานีรถประจำทาง และระบบแจ้งเตือนค่าฝุ่นที่หน้าจอ Widget มือถือ ช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ที่ติดอันดับ 3 ของโลกในปี 2566 โดย

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ไอเดียพัฒนาตู้คลินิกเพื่อชุมชนอัจฉริยะ โดย ทีม XTremeX โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โครงการ วมว. โรงเรียนสิริรัตนาธร โรงเรียนอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี เป็นตู้คลินิก ให้บริการตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น (วัดอุณหภูมิ ส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดความดัน) ปรึกษาแพทย์ทางไกลผ่านวิดีโอคอลล์ และจ่ายยาเบื้องต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำกัดในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และช่วยลดการเดินทางไปยังสถานพยาบาล  

 

นวัตกรรมเด็กมหาวิทยาลัย 

รางวัลชนะเลิศ ผลงาน Intelligence Bin ทีมปั๊กกะป๊อก มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดถังขยะอัจฉริยะที่สามารถแยกขยะด้วยระบบกล้องจับภาพ และเทคโนโลยี AI ประมวลผลที่คัดแยกขยะออกจาก Background หรือวัตถุอื่นได้ รวมถึงมีระบบแจ้งเตือนเมื่อขยะอัดแน่นเต็มถัง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ส่งผลให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านสุขภาพ โดย AI จะตรวจจับว่าขยะแต่ละชิ้นเป็นขยะอะไร และแยกไปในถังขยะที่เหมาะสม มีความแม่นยำ 99.2% และทำงานออฟไลน์ได้ ส่วนถังขยะจะเชื่อมต่อกับ Maps และแสดงสถานะให้ผู้รับผิดชอบรู้ว่าใกล้เต็มหรือยัง หรือว่าเต็มแล้ว ก็จะส่งแจ้งเตือนไปหาผู้รับผิดชอบ

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานระบบ AI EYE ทีม AiHUB จากการรวมตัวกันของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คิดระบบ AI EYE ตรวจสอบความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากพบว่าแต่ละวันมักจะมีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมาก ก่อให้เกิดการสูญเสีย ระบบ AI EYE ที่คิดค้นขึ้น เป็นการนำเอาอุปกรณ์ชิ้นส่วนเก่า ๆ ที่เป็น E-Waste 90% มาพัฒนาประกอบร่างเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมกับนำกล้องเว็บแคมเก่า ๆ จัดทำระบบตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ควบคุมไฟจราจรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี AI และอุปกรณ์ IoT รวมถึงระบบจัดเก็บข้อมูลและแสดงผล เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและการไม่เคารพกฎจราจร 

ทั้งนี้ ระบบสามารถใช้ตรวจจับรถวิ่งบนทางเท้า ฝ่าไฟแดง จอดในที่ห้ามจอด รถวิ่งเร็วเกินกำหนด โดยเข้ามาทำงานตรวจสอบความปลอดภัยบนท้องถนน ตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ควบคุมไฟจราจรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี AI และอุปกรณ์ IoT รวมถึงระบบจัดเก็บข้อมูลและแสดงผล เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและการไม่เคารพกฎจราจร โดยระบบสามารถเข้าไปปลั๊กอินกับระบบเดิมของ กทม. ได้ และสามารถเก็บข้อมูลลง Database ได้ เป็นการช่วยบริหารจัดการระบบไฟจราจรอัจฉริยะ ตั้งเป้าจะแก้ปัญหาการจราจร 70% และช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ 700 คนต่อปี

 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงาน BKK BIN+ โดย ทีม IoT E-Waste จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง คิดต้นถังขยะอัจฉริยะที่สามารถแยกขยะด้วยระบบกล้องจับภาพ และเทคโนโลยี AI ประมวลผล แยกขยะ ได้ 4 ประเภท ได้แก่ ขยะเปียก ขยะทั่วไป ขวดพลาสติกและขวดแก้ว รวมทั้งกระป๋อง อีกทั้งยังมีระบบแลกแต้มรับรีวอร์ด พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อขยะเต็มอีกด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณขยะในกรุงเทพฯ จำนวนมหาศาล อันนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตาม ชมสุดยอด 6 ผลงานนวัตกรรมทำถึง จากปฏิบัติการ ‘e-Waste HACK BKK 2024’ ได้ที่ เฟซบุ๊ก ทรู แล็บ: https://www.facebook.com/truelab.trueinnovation