ความสามารถด้านดิจิทัล เป็นหนึ่งการเสริมแกร่งให้กับ SMEs พาประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลาง ล่าสุดจากการสำรวจ SMEs ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ภาคใต้ ของ ETDA ในช่วงต้นปี 2567 พบว่า ผู้ประกอบการใน 2 พื้นที่นี้ยังเผชิญความท้าทายในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ แต่พร้อมและเห็นประโยชน์ที่จะยกระดับธุรกิจด้วยดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างรายได้
เป้าหมายใหญ่ของประเทศไทย คือ การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยวิธีการหนึ่งที่จะบรรลุเป้าหมาย คือ การทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) เข้มแข็ง เนื่องจากตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า SMEs ไทย มีบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ 35.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และยังเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานสูงถึง 70% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะการเสริม ‘ศักยภาพด้านดิจิทัล’ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ศักยภาพ ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และภาคใต้ ซึ่งเหมาะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนา SMEs เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจไทย
เนื่องจากพื้นที่ EEC เป็นศูนย์กลางของการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขั้นสูง ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ มีศักยภาพสูงในการเติบโต ที่มีทั้งการค้า การบริการการเกษตร และการท่องเที่ยว ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย
ล่าสุด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในฐานะหน่วยงานที่ไม่เพียงทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล แต่ยังมีบทบาทในการส่งเสริมควบคู่กันไปด้วย ทั้งในกลุ่มภาครัฐ SMEs ชุมชน จนไปถึงประชาชน เพื่อให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น
SMEs พื้นที่ EEC ยังเผชิญปัญหา
ขาดทักษะ-ข้อมูลเชิงลึกเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
โดยในปี 2567 ก็ได้พุ่งเป้าในการพัฒนา SMEs ใน 2 พื้นที่ศักยภาพดังกล่าว ทั้งนี้จากการสำรวจ SMEs ในพื้นที่ EEC (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) จำนวน 400 ราย และพื้นที่ภาคใต้ 449 ราย โดย ETDA ในช่วงต้นปี 2567 พบว่า ผู้ประกอบการใน 2 พื้นที่นี้ยังคงต้องเผชิญความท้าทายในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ
โดยเฉพาะ SMEs ในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่ยังพบข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการปรับใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น การขาดทักษะด้านดิจิทัล ต้นทุนเทคโนโลยีที่สูงและขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความท้าทาย แต่ SMEs ในพื้นที่ EEC ก็เริ่มมีนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจโดยเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้งาน ได้แก่ ระบบบัญชี-การเงิน, e-Commerce, CRM, ระบบ ERP, ระบบอัตโนมัติ (Automation), IoT และโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอบโจทย์ทั้งภาคการผลิตและการบริการ โดยธุรกิจภาคการผลิต มักใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการองค์กร ขณะที่ ธุรกิจบริการและค้าปลีก/ค้าส่ง จะเลือกใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับลูกค้า อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อย ยังคงมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีในระดับที่ไม่สูงมาก มีค่าใช้จ่ายด้านดิจิทัล น้อยกว่า 5% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
SMEs ภาคใต้ พบปัญหาความซับซ้อนเทคโนโลยี
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไม่เพียงพอ
ด้าน SMEs ในพื้นที่ ภาคใต้ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถบรรลุเป้าหมายบางส่วนได้ แต่ยังมีความท้าทาย เช่น ความซับซ้อนของเทคโนโลยีดิจิทัล ขาดทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ
ทว่า SMEs ในภาคใต้ ก็เริ่มให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้เช่นเดียวกับพื้นที่ EEC เช่น ระบบบัญชี-การเงิน, e-Commerce และ CRM โดยการนำมาปรับใช้ในธุรกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่เนื่องจากความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ยังขาดความพร้อมทั้งในมุมประสบการณ์และทักษะในการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล
ประเมินความพร้อมเปลี่ยนผ่านดิจิทัล
พื้นที่ EEC – ภาคใต้ อยู่ในระดับปานกลาง
ทั้งนี้ หากมองความพร้อมภาพรวม จากการวัดความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่อ้างอิงผลการสำรวจ Digital Maturity Index ของ ETDA พบว่า SMEs ในพื้นที่ EEC และ ภาคใต้ อยู่ในระดับ Digital Follower ซึ่งถือว่า มีความพร้อมในระดับปานกลาง เช่นเดียวกับ SMEs ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ
ระบุแม้ความพร้อมดิจิทัลปานกลาง
แต่ต้องการทรานส์ฟอร์มยกระดับธุรกิจ
แม้ว่า SMEs ส่วนใหญ่ใน 2 พื้นที่ มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ในระดับปานกลาง แต่กลับตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาต่างมองเห็นประโยชน์และให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี มาช่วยยกระดับการทำงานและการทำธุรกิจ และต้องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในธุรกิจเป็นอย่างมาก
SMEs สนใจระบบบริหารจัดการลูกค้า
ระบบบริหารจัดการร้าน บัญชี การเงิน
โดยในพื้นที่ EEC ความสนใจหลักของ SMEs อยู่ที่ระบบบริหารจัดการลูกค้า (CRM) มากที่สุด ตามมาด้วย ระบบบริหารจัดการร้าน (ERP) และระบบบัญชี-การเงิน (ACC) เป็นต้น ส่วน SMEs ในภาคใต้ มีความต้องการ ระบบบัญชี-การเงิน ตามด้วยระบบ ERP และระบบ e-Commerce และระบบ CRM
โดยภาพรวมต่างมองตรงกันว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดย SMEs ในพื้นที่ EEC มองว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น รวมถึงช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กรและยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ไม่ต่างจาก SMEs ในพื้นที่ ภาคใต้ ที่มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้า ขยายโอกาสทางรายได้จากกลุ่มลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจโดยรวม
จากอินไซต์สู่ความสำเร็จ: ETDA ปิดช่องว่าง
ด้วยโปรเจค ‘SMEs GROWTH’
จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของ SMEs ในพื้นที่ EEC และ ภาคใต้ สู่จุดเริ่มต้นของ ETDA ในการพัฒนาโมเดลที่เข้ามาปิดช่องว่างและตอบโจทย์ความต้องการของ SMEs ผ่านโครงการ ‘SMEs GROWTH’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้แนวคิด ‘พลิกโฉม SMEs ไทย เติบโตได้อย่างยั่งยืน’ เพื่อมุ่งสร้างความพร้อมให้ SMEs สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
โดย ‘SMEs GROWTH’ ไม่ได้เน้นเพียงการถ่ายทอดความรู้ แต่ยังมีกิจกรรมหลากหลายที่ครอบคลุมทั้งการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาด้านดิจิทัล และการพัฒนาโซลูชันเฉพาะสำหรับ SMEs โดยร่วมมือกับ Tech Provider เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ตรงกับความต้องการ เช่น การนำระบบ ERP, CRM, และ e-Commerce มาปรับใช้ในธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายอย่างมีประสิทธิผล ตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการนี้ ไม่เพียงช่วยให้ SMEs มีความคล่องตัวมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี แต่ยังช่วยให้ Tech Provider สามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างรายได้ในตลาดใหม่ๆ แบบเจาะจง ถือเป็นการผลักดันเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นไปพร้อมกัน
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการ SMEs GROWTH ได้ที่ เว็บไซต์ของ ETDA https://www.etda.or.th/th/smesgrowth หรือ ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand