ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ยิ่งในผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างหัวใจ เบาหวาน ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด ไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง มีความเสี่ยงที่เวลาอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วอาจจะเสียชีวิตได้
เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีความจำเป็นต่อความเสี่ยงดังกล่าวโดยเฉพาะผู้สูงวัยอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงวัยลดกับความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ได้
การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ส่งผลเสียต่อผู้สูงวัยมากกว่าที่คิด
นพ.ไพทูรย์ บุญมา จากโรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า เมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ร่างกายจะได้รับผลกระทบตามมาไม่ว่าจะเป็น
• สูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองหลังเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ 23%
• เพิ่มความเสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบมากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า
• เพิ่มความเสี่ยงเส้นเลือดตีบที่หัวใจมากกว่าคนทั่วไป 10 เท่า
• หากป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีปัญหาระดับน้ำตาลถึง 75%
• 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่นอนโรงพยาบาลไม่สามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติภายใน 1 ปี
อาการไข้หวัดใหญ่
• ไข้
• ไอ
• เจ็บคอ
• น้ำมูกไหล
• ปวดเมื่อยตามตัว
• ปวดศีรษะ
หากอาการไม่รุนแรงอาการจะหายได้เองภายใน 3 – 5 วัน แต่ในผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล
ไข้หวัดใหญ่เพิ่มความเสี่ยงในผู้สูงวัย
ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อผู้สูงอายุเป็นไข้หวัดใหญ่มีมากมาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหนักและเสียชีวิต ได้แก่
• ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย (Immunosenescence) ซึ่งผู้สูงวัยมีโอกาสที่จะเกิดภาวะนี้สูง ดังนั้นเมื่อร่างกายติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ร่างกายจะตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอย สูญเสียความสมดุล เกิดการอักเสบรุนแรง หากไม่สามารถยับยั้งจะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
• โรคประจำตัวที่รักษาไม่หายขาด (Underlying Disease) เมื่อผู้ป่วยสูงอายุเจ็บป่วย ร่างกายจะอ่อนแอและการปรับตัวใช้เวลามากกว่าคนหนุ่มสาว มีความเสี่ยงเกิดภาวะอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ง่ายขึ้น
• ภาวะเปราะบางและความอ่อนแอในผู้สูงอายุ (Frailty) ภาวะเปราะบางไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะของร่างกายที่อยู่ระหว่างความสามารถในการทำงานได้และภาวะไร้ความสามารถ รวมถึงอยู่ระหว่างคนสุขภาพดีและคนที่ป่วยเป็นโรค พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ป้องกันไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงวัย
สำหรับผู้สูงอายุการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะเชื้อโรคในแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์ การฉีดภูมิต้านทานเชื้อโรคของวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงมีการปรับให้เหมาะสม ในแต่ละปีที่คาดว่าจะมีการระบาดใหญ่ขึ้น สำหรับประเทศไทยแนะนำให้ฉีดช่วงก่อนฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม และช่วงก่อนฤดูหนาวในเดือนตุลาคม เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาด เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และลดอัตราการนอนในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อน
ทำไมต้องเป็นวัคซีนไข้หวัดสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
มีข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้สูงวัยและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์สำหรับบุคคลทั่วไปในอเมริกาและแคนาดาพบว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้สูงวัยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าถึง 24.2% ลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากโรคต่าง ๆ อย่างโรคปอดอักเสบลดลง 27.3% โรคระบบหัวใจและทางเดินหายใจลดลง 17.9% โรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 11.7% และแนวโน้มการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยรวมลดลง 8.4% ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยไม่ต่างกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
การคุมอาหารอย่างไรให้สุขภาพดี มีหุ่นเฟิร์มกระชับตลอดเวลา
https://www.thaiquote.org/content/250430
บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยไปกว่าบุหรี่มวน
https://www.thaiquote.org/content/250416
นักวิ่งควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองเป็นอันดับแรก ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อควรปรึกษาแพทย์ก่อน
https://www.thaiquote.org/content/250408