ถ้าตั้งคำถามว่า เคยเช็กท่านอนของคุณว่าถูกต้องหรือไม่? กว่า 90% ตอบว่าไม่เคย แค่หัวถึงหมอนก็หลับกันแล้วใช่ไหมคะ แต่รู้หรือไม่ อาการปวดต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะปวดหลัง ไหล่ ต้นเหตุคือเกิดจากการนอนในท่าที่ไม่ถูกต้อง
คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ไลฟ์เซ็นเตอร์ จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับท่าการนอนมีผลหรือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวด ซึ่ง 3 ท่านี้ที่เราไม่ควรนอน คือ
1. ท่านอนตะแคง ใครๆ ก็ชอบนอนท่านี้ การนอนท่านี้น้ำหนักไปลงที่ไหล่ คอพับเข้าหาไหล่เสมือนกระดูกต้นคอถูกกดเข้าหากัน แล้วบริเวณรอบก้านคอมีเส้นเลือด เส้นประสาทผ่านออกมา นอนทับไว้นานๆเลือดก็ไม่ไหลเวียน มีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆ หัวไหล่ และคอ หากนอนทับไปเรื่อยๆ ทำให้ปวดเรื้อรังกลายเป็นไหล่ติดได้ในที่สุดยิ่งไม่มีหมอนก่ายจะทำให้มีผลกับช่วงเอวด้วยเพราะเวลานอนน้ำหนักจะทิ้งลงสะโพกด้านที่เรานอนทับ และสะโพกจะบิด หลังจะบิดตามเกิดปัญหาปวดหลังเรื้อรังตามมาได้
2. ท่านอนคว่ำทั้งคืน สิ่งที่ส่งผลเสียมากที่สุดคือกระดูกต้นคอ และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆคอ เวลานอนคว่ำเราต้องหันหน้าออกด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งทำให้คอหมุน/บิดและถูกกดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อต่อ กล้ามเนื้อ และระบบเลือด&เส้นประสาทจะเหมือนถูกกดและบิดหมุนไว้มากที่สุดเมื่อเทียบกับท่าอื่นๆ นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้การขยายตัวของปอด และการเต้นของหัวใจถูกจำกัดลง เพราะน้ำหนักตัวจะกดทับชายโครงเอาไว้ ปอดขยายได้ลำบาก มีผลต่อการขนส่งออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ตื่นมาก็จะรู้สึกไม่สดชื่น เพลียถือเป็นท่าที่ส่งผลเสียต่อร่างกายมากที่สุด
3. ท่านอนหงายไม่มีหมอนรองใต้เข่า หลังจะแอ่นโดยไม่รู้ตัว ยิ่งไม่มีหมอนรอง จะยิ่งปวดหลังได้ง่าย เพราะถ้าไม่มีหมอนรองใต้เข่า กระดูกต้นขาจะดึงให้กระดูกเชิงกรานบิดไปด้านหน้ามากขึ้น ซึ่งกระดูกเชิงกรานเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลัง จึงทำให้เกิดหลังแอ่นได้ กล้ามเนื้อหลังก็จะมีการหดเกร็งมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมาได้
ลองปรับมานอนท่านอนที่ถูกต้องนะคะ ซึ่งท่านอนที่ถูกต้องคือท่านอนหงาย และจะต้องมีหมอนซับพอร์ตตั้งแต่ศีรษะจนถึงบริเวณต้นไหล่ รองรับโค้งกระดูกคอ เพื่อให้มีการพยุงกล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณท้ายทอย กล้ามเนื้อต้นคอตลอดจนถึงกล้ามเนื้อบริเวณบ่าและหัวไหล่ทั้งสองข้าง และมีหมอนรองใต้เข่าเพื่อช่วยลดหลังแอ่นและลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลังได้ นอกจากนี้ท่านอนที่ถูกต้องยังช่วยลดแรงกดทับต่อข้อต่อต่างๆในร่างกายได้ด้วย ทำให้ร่างกายมีการผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ ตื่นมาก็สบายตัว
การปรับเปลี่ยนในช่วงแรกอาจจะดูยาก เพราะร่างกายไม่เคยชิน แต่ถ้าทำบ่อยๆ อาจจะค่อยๆปรับในช่วงแรกของการนอน ร่างกายก็จะเริ่มคุ้นชิน จนสามารถปรับได้ตลอดทั้งคืน ซึ่งถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ ก็จะส่งผลในระยะยาวที่จะช่วยลดอาการปวดที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ ถือว่าคุ้มค่านะคะ
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
กรมการแพทย์แผนไทยฯ เผย 6 เคล็ดลับ ฟื้นฟูสุขภาพผิวหน้า ผิวพรรณ ด้วยสมุนไพร หลังเทศกาลสงกรานต์
https://www.thaiquote.org/content/250019
คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพ
https://www.thaiquote.org/content/249992
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะสงกรานต์ปลอดภัย พกยาไทยช่วยคลายร้อน
https://www.thaiquote.org/content/249980