ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม

ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม

“ห้ามเดินลุยน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว ซึ่งระดับน้ำสูงเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้” -นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์-

 

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะ การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าช็อต

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้ระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ การจมน้ำ ไฟฟ้าช็อต และสัตว์มีพิษกัดต่อย พร้อมแนะวิธีป้องกันโดยเน้นไม่ให้เดินลุยน้ำบริเวณน้ำไหลเชี่ยว สำรวจมุมอับของบ้านเป็นประจำ ป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปหลบซ่อน ไม่เดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้า และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูง หรือน้ำท่วมฉับพลัน กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต

สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 ที่ผ่านมา (23 กันยายน – 18 พฤศจิกายน 2564) พบว่ามีผู้เสียชีวิต 100 ราย มีสาเหตุจากการจมน้ำ/ถูกน้ำพัดมากที่สุด 82 ราย รองลงมาคือ ไฟฟ้าช็อต 5 ราย การจมน้ำ พบในเพศชายถึงร้อยละ 74 กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปจมน้ำมากที่สุด ร้อยละ 34.1 สาเหตุหลักที่พบในกลุ่มผู้ใหญ่ คือ พลัดตก ลื่น เรือล่ม/พลัดตกเรือ ออกหาปลา ส่วนในกลุ่มเด็ก คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม (เล่นกันเองเป็นกลุ่ม) รองลงมาคือ เดินลุยน้ำและถูกน้ำพัด และพลัดตก ลื่น ทั้งนี้พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ถึงร้อยละ 13.4 ส่วนไฟฟ้าช็อตทั้ง 5 ราย เป็นเด็กอายุ 15 ปี ถึง 2 ราย สาเหตุ เกิดจากเข้าไปตัดไฟในบ้าน น้ำท่วมขังบ้านพัก ขับรถไถ ส่วนข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ ของกระทรวงสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ช่วงปี 2561-2564 (ข้อมูลทั้งปี) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เฉลี่ยถึงปีละ 74 ราย ในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม (ช่วงฤดูฝน) เกิดเหตุมากที่สุด

คำแนะนำสำหรับการป้องกันภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ดังนี้
1) การป้องกันการจมน้ำ ห้ามขับรถหรือเดินลุยน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว ซึ่งระดับน้ำสูงเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้เสียหลักล้มได้ ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาขนาด 5 ลิตร ผูกเชือกสะพายแล่งที่ข้างลำตัว และติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลาจากช่องทางต่างๆ

2) การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งตัวให้มิดชิด และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่น้ำกัดต่อย
3) การป้องกันไฟฟ้าซ็อต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟ พร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร

นอกจากนี้ หากเจอคนถูกไฟฟ้าดูดให้ปฏิบัติ ดังนี้ ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ทำความรู้จัก “ไซโคไบโอติกส์” (Psychobiotics) ผู้กำกับ อารมณ์ และ สุขภาพจิต เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะซึมเศร้า
https://www.thaiquote.org/content/248223

สาเหตุของการเกิดโรคด่างขาว และวิธีการรักษา
https://www.thaiquote.org/content/247893

แป้งในกล้วยเขียวยังไม่สุกเกินไป สามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้กว่า 60%
https://www.thaiquote.org/content/247881