วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 ผู้พัฒนา “กราฟีน” นวัตกรรมวัสดุแห่งอนาคต

วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 ผู้พัฒนา “กราฟีน” นวัตกรรมวัสดุแห่งอนาคต

นักวิจัยดีเด่นจาก สวทช. นำนาโนเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสังเคราะห์กราฟีนได้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การแพทย์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทําให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม By NRCT ครั้งที่ 6 ยกย่องนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ “ดร.อดิสร เตือนตรานนท์” แห่งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

 

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “กิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้ วช. ได้รับเกียรติจากนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติอีก 1 ท่าน คือ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ แห่ง ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการใช้ให้เกิดประโยชน์ จนได้ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์กราฟีนได้เป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย ได้นำกราฟีนไปประยุกต์ใช้เป็นเซนเซอร์ในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การแพทย์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม นําไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทําให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กล่าวว่า “ทีมวิจัยได้ทำการวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีมากว่า 20 ปี สิ่งที่เราค้นพบ คือ วัสดุคาร์บอนแบบ 2 มิติ ที่เรียกว่า “กราฟีน (Graphene)” ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นวัสดุที่มีในธรรมชาติ หาง่ายมีความนำไฟฟ้าสูงและมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กถึง 200 เท่า มีขนาดที่โค้งงอ ยืดหยุ่นได้ดี มีราคาถูก และมีพื้นที่ผิวสูง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการนำเอาวัสดุกราฟีนมาใช้ในการทำงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มระยะเวลาในการใช้งานให้นานยิ่งขึ้น การนำวัสดุกราฟีนไปผสมในไฟฟ้า ในแบตเตอรี่ หรือตัวเก็บประจุไฟฟ้ายิ่งยวด กราฟีนจะมีส่วนช่วยทำให้การเก็บประจุไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น โดยที่พื้นที่ผิวของขั้วไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้เก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น แล้วก็ยังสามารถทำงานในระยะเวลาที่นานขึ้นอีกด้วย”

“สิ่งที่น่าสนใจ คือ การนำกราฟีนมาประยุกต์ใช้ในด้านของความมั่นคงทางสังคม อาหาร สิ่งแวดล้อม พลังงงานและทางการแพทย์ ด้วยการพัฒนาเซนเซอร์ด้วยวัสดุขั้นสูงนาโนกราฟีน โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สกรีนทำให้ได้เซนเซอร์กราฟีนชนิดพิมพ์ที่มีความไวสูง ต้นทุนต่ำสามารถตีพิมพ์ลงบนพื้นผิวได้หลายชนิด และส่งเสริมกำลังผลิตในระดับอุตสาหกรรม ด้านทางการแพทย์ ได้แก่ ชุดตรวจสารเสพติด ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในอาหาร เซนเซอร์วัดสารเร่งเนื้อแดง และชุดตรวจเชื้อวัณโรค ด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมการนำกราฟีนมามีส่วนช่วยในการวัดระดับกลิ่นข้าวหอมมะลิด้วยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ AI และการนำกราฟีนมาเป็นส่วนผสมในการผลิตผ้าอนามัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น กราฟีนนับเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่จะนำไปสู่นวัตกรรมรูปแบบใหม่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถยกระดับการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน” ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้ จัดเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแ พร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป.