นวัตกรรมใหม่! เภสัชฯ จุฬาฯ พัฒนา “สเปรย์ไฟท์ฝุ่น” คว้ารางวัล IWIS 2021 และขายเชิงพาณิชย์แล้ว

นวัตกรรมใหม่! เภสัชฯ จุฬาฯ พัฒนา “สเปรย์ไฟท์ฝุ่น” คว้ารางวัล IWIS 2021 และขายเชิงพาณิชย์แล้ว

นวัตกรรม “สเปรย์ไฟท์ฝุ่น (PhytFoon Spray)” ของคณะนักวิจัยจากเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลจากเวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติ IWIS 2021” และพัฒนาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์แล้ว

 

นวัตกรรม “สเปรย์ไฟท์ฝุ่น (PhytFoon Spray)” ของ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ร้อยตำรวจเอกหญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง เรืออากาศโทหญิง ดร.ภัสราภา โตวิวัฒน์ และอาจารย์ เภสัชกร ดร.วันชัย จงเจริญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลจากประกวดเวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติ International Warsaw Invention Show 2021“IWIS 2021” ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์

 

 

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ร้อยตำรวจเอกหญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง กล่าวว่า ทีมวิจัยได้บ่มเพาะพัฒนาสเปรย์ไฟท์ฝุ่น ที่มีคุณสมบัติสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศให้ตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ฝุ่นไม่ฟุ้งนานถึง 8 ชั่วโมง ช่วยลดอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากฝุ่นได้ เป็นสูตรตำรับที่ปราศจากแอลกอฮอล์ ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และสัตว์เลี้ยง ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้คิดค้นผ่านทาง บริษัท เฮิร์บการ์เดียน จำกัด ภายใต้โครงการบ่มเพาะของ CU innovation hub วิธีใช้นวัตกรรมสเปรย์ไฟท์ฝุ่น ทำได้ง่าย เพียงแค่ฉีดพ่นในพื้นที่ปิด เช่น บ้าน ออฟฟิศ และรถยนต์ เพื่อให้ละอองสเปรย์ดักจับฝุ่น สเปรย์ 1 ครั้ง (ปริมาตรประมาณ 1 มิลลิลิตร) ต่อ พื้นที่ห้อง 4 ตารางเมตร

นวัตกรรมสเปรย์ไฟท์ฝุ่น สามารถลดฝุ่นละอองจิ๋วในบรรยากาศ ด้วยกลไกการเหนี่ยวนําให้ฝุ่นละอองเกิดการรวมตัวกันเป็นก้อนด้วยอันตรกิริยาระหว่างโมเลกุลแบบประจุ-ประจุ (Ion-induced agglomeration) และจากความหนืด ร่วมกับการใช้สารลดแรงตึงผิว ทําให้อนุภาคฝุ่นรวมตัวกันและมีขนาดใหญ่และตกลงสู่พื้น สามารถทำความสะอาดด้วยการเช็ดถูได้ตามปกติ ปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เพนทา อินโนเทค จำกัด เพื่อผลิตจำหน่าย ขณะนี้ นวัตกรรมสเปรย์ไฟท์ฝุ่น มีกลิ่น Lavender และกลิ่น Blossom Bloom เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบกลิ่นต่าง ๆ ได้เลือกใช้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

 

การประกวดเวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติ International Warsaw Invention Show 2021“IWIS 2021” จัดโดย The Association of Polish Inventors and Rationalizers ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมนักประดิษฐ์ของสาธารณรัฐโปแลนด์ มีผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันต่าง ๆ นักวิจัยและนักประดิษฐ์อิสระ จากประเทศโปแลนด์และต่างประเทศ เข้าร่วมประกวดและจัดแสดง จำนวนกว่า 300 ผลงาน จาก 17 ประเทศ โดยประเทศไทยได้นำผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดง จำนวน 31 ผลงาน จาก 15 หน่วยงาน ประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 8 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 13 ผลงาน และรางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 10 ผลงาน.