นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ข่าวที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลานี้ จะเห็นว่าสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ โดยเฉพาะข่าวการฆ่าตัวตายแบบรมควันนั้น กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนในการติดตามข่าวสารข้อมูลความเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (Copycat suicide) ขึ้นมาได้ โดยการเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับข่าวที่บรรยายถึงวิธีการกระทำโดยละเอียด การได้เห็นภาพ หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อ ได้ฟังการบรรยายในเรื่องของการฆ่าตัวตายซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย จากข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ปี 2540 – 2560 พบว่า มีการฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีการรมควัน เพียงประมาณ 0.1% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และผู้ชายเสี่ยงกว่าผู้หญิง 1.38 เท่า ในการใช้วิธีการนี้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า “กรมสุขภาพจิต จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกัน โดยในส่วนของสื่อมวลชนซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าววิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ภาพการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำร้ายตัวเอง และหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวซ้ำๆ ถี่ๆ เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย”
สำหรับบุคคลทั่วไปขอให้หมั่นสังเกต คนใกล้ชิด คนในครอบครัว หากพบมีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยง ต่อการฆ่าตัวตาย ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย แสดงความเต็มใจช่วยเหลือ ยอมรับปัญหาของเขา ให้กำลังใจ ชักชวนออกไปทำกิจกรรมข้างนอก และพาไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 หรือ เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมที่แอพพลิเคชั่นสบายใจ (sabaijai)