กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขุดช่วยลูกเต่ามะเฟืองลงสู่ทะเล 35 ตัว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมผลักดันให้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง หาดท่าไทร อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ว่าพบปากหลุมยุบตัวลงตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 23 ก.พ.62
โดยตามปกติคาดว่าลูกเต่ามะเฟืองจะฟักออกจากไข่ และคลานขึ้นมาจากหลุมทรายเพื่อไปลงสู่ทะเลได้เอง แต่เมื่อรอเวลาอันสมควรตลอดทั้งคืนแล้ว กลับไม่มีลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมาจากหลุม ทางนักวิชาการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงตัดสินใจขุดเพื่อช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมา
สรุปจำนวนไข่ที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ทั้งหมด 86 ฟอง เป็นไข่ที่ได้รับการผสมและลูกเต่ามีชีวิต 35 ตัว ปล่อยลงสู่ทะเลแล้ว โดยมีไข่เต่ามะเฟืองที่ไม่ได้รับการผสม 31 ฟอง และเป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง (ไข่ลม) 20 ฟอง
นายจตุพร กล่าวว่า ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เมื่อปี 2558 ก็ทำให้ทุกภาคส่วนดูแลทรัพยากรทางทะเลอย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งเต่ามะเฟือง ไม่ได้ขึ้นมาวางไข่ได้ง่ายๆ จะต้องเป็นพื้นที่ที่สะอาด สงบ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพื้นที่ชายหาดท่าไทรมีความอุดมสมบูรณ์จริงๆ
โดยที่ผ่านมากรม ทช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมกว่า 11 แห่ง ในการลงนามปฏิญญาอนุรักษ์เต่าทะเลแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดการไม่ให้กระทบต่อแหล่งวางไข่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง การที่ท้องถิ่นรวมทั้งภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมในการอนุรักษ์เต่าทะเล และความพยายามคงไว้ซึ่งประเพณีเดินเต่าอันดีงามที่ได้สืบทอดกันมาจากอดีตในบริเวณนี้
ขณะเดียวกันภาครัฐอย่างกรม ทช. และกรมอุทยานฯ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องการเข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตอุทยาน รวมทั้งอนุรักษ์หาดทรายที่มีค่านี้ไว้ ทั้งหมดนี้เป็นความร่วมมือและดำเนินการนโยบายของรัฐบาลที่ตนอยากเห็น
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยด้วยว่า จากสถิติการพบเต่ามะเฟืองครั้งล่าสุด มีรายงานการขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดท้ายเหมืองเมื่อประมาณ 6 ปี ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเก็บขยะทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เต่าเข้าใจผิดนึกว่าเป็นแมงกะพรุน และกินเข้าไปทำให้เต่าเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ จึงทำให้ปริมาณเต่ามะเฟืองลดลงอย่างรวดเร็ว บางพื้นที่เคยมีเต่ามาวางไข่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันนี้เหลือลดน้อยลงกว่าเดิม
ทั้งนี้ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันให้เต่ามะเฟืองขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวน และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับนี้ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระแรกแล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ หากสำเร็จ เต่ามะเฟืองจะนับเป็นสัตว์สงวน หลังจากที่ไม่มีการขึ้นบัญชีสัตว์ให้เป็นสัตว์สงวนมานานถึง 27 ปี
ภาพ-คลิปจาก FB : รักโลก