บุคคลชลประทาน ประจำเดือนมีนาคม 2560

บุคคลชลประทาน ประจำเดือนมีนาคม 2560

บุคคลชลประทาน ประจำเดือนมีนาคม 2560

“ปัญญพงษ์ สงพะโยม”

หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำ ผู้เดินตามหลักวิถีพอเพียง

            ปัญญพงษ์ สงพะโยม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน-คลองดินแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 ผู้ทุ่มเทชีวิตการทำงานด้วยแรงกาย แรงใจ จากความรัก ความผูกพัน กับความฝันที่ต้องการพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดด้วยการพัฒนางานชลประทานเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความสุข อันเป็นเส้นทางสู่การรับราชการในสังกัดกรมชลประทาน

            จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ เกิดจากการที่ผมเป็นลูกหลานของเกษตรกร ที่ตอนเด็กๆ จะเห็นว่าเมื่อถึงฤดูแล้งจะไม่มีน้ำที่เพียงพอสำหรับการทำนา พอเริ่มเข้ามาสู่ช่วงวัยรุ่น หมู่บ้านของผมเริ่มมีโครงการชลประทานและคุณพ่อของผมได้เป็นลูกจ้างชั่วคราวของกรมชลประทานด้วยผมจึงได้มีโอกาสตามคุณพ่อเข้าไปดูการทำงานอยู่บ่อยครั้ง และก็เริ่มสนใจหลักการทำงานของกรมชลประทาน ที่ทำให้หมู่บ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังทำให้มีน้ำในคลองที่ใสสะอาดอีกด้วย

“จากวันนั้นจึงเป็นความใฝ่ฝันที่ผมได้ตั้งมั่นเอาไว้ว่าเมื่อเรียนจบมัธยมจะสอบเข้าวิทยาลัยการชลประทานซึ่งก็ทำได้สำเร็จเป็นก้าวแรก ในปี 2531”

หลังจากเรียนจบปี 2536 ถึงแม้ว่าจะเรียนจบช้ากว่าคนอื่นในรุ่นแต่ด้วยความตั้งมั่นก็ยังคงเลือกที่จะสานต่อปณิธานในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรจนได้ โอกาสเข้ามาทำ งานในตำแหน่งที่แสนภาคภูมิใจ

            “ในตอนที่ผมเรียนจบมาตำแหน่งแรกที่ได้รับคือนายช่างชลประทาน ที่โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช จนกระทั่งปี พ.ศ.2555 ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 เห็นความมุ่งมั่นในการทำงาน ในการปฏิบัติภารกิจของกรมชลประทานสำเร็จด้วยดีมาตลอด จึงได้แต่งตั้งให้มาทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 ทำหน้าที่ควบคุมดูแล บริหารจัดการน้ำโครงการส่งน้ำคลองกะทูน-คลองดินแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งหน้าที่นี้

ผมได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง และเรื่องของการป้องกันอุทกภัย”
ในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ภาคใต้เกิดอุทกภัยที่ถือว่าหนักที่สุดในรอบ 10 ปี ปัญญพงษ์ ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่งในทีมงานชลประทาน ลุ่มน้ำตาปีตอนบน

“ในช่วงที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมทีมงานวางแผนในเรื่องของการระบายน้ำ จัดการน้ำให้ระบายออกได้เร็วที่สุดโดยผมและทีมงานจะเตรียมความพร้อมที่หน้างานตลอดเวลา เพื่อคอยรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเช็คปริมาณน้ำฝน สถิติของน้ำในลุ่มน้ำตาปี ติดตามประมวลผลจากการวิเคราะห์สภาพดินฟ้าอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเราทราบสถานการณ์น้ำที่ต้นน้ำแม่น้ำตาปีแล้ว จะสามารถคาดการณ์สภาพน้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตาปีในช่วงต่อไปได้ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยเฝ้าระวังที่จุดตรวจวัดน้ำเพื่อรายงานผลการตรวจสอบทุกชั่วโมงเมื่อน้ำถึงระดับวิกฤต ก็จะแจ้งเตือนไปยังประธานคณะกรรมการจัดการชลประทาน หรือ JMC หัวหน้ากลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานต่างๆ รวมทั้งแจ้งประชาชนทั่วไปทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมรับมือ อพยพทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงและยกของขึ้นที่สูงได้ทันเวลาหลังจากนั้นก็ติดตามสภาพน้ำในพื้นที่อื่นๆ เช่น สถานีอุตุนิยมวิทยาอุทกพระแสง ทำให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันได้ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งผมมั่นใจว่าการวางแผนการจัดการน้ำจะช่วยในเรื่องของการป้องกัน บรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในทุกๆ ปีได้อย่างแน่นอนครับ”

จากความรู้ที่ปัญญพงษ์เล่ามาได้แสดงให้เห็นว่าเขาและเพื่อนร่วมทีมมีใจรักในงานชลประทาน อีกทั้งยังมีความเป็นนักคิดของการเป็นนักวางแผนที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรื่องของการอบรมเกษตรกรด้วยการลงมือทำจริง

            “ด้วยความที่อยากสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชน จึงได้เกิดโครงการที่ได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งเป็นโครงการที่ผมประทับใจและภูมิใจเป็นอย่างมาก คือการได้นำพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองดินแดงประมาณ 1,000 ไร่ มาทำเป็นพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาอาชีพการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหลายๆ กิจกรรมมาปรับใช้ อาทิ กลุ่มทำนา 1 ไร่ได้หลายแสน ใช้หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่คือ การทำนาที่สามารถแบ่งพื้นที่มาทำอย่างอื่นได้ เช่น พื้นที่ 1 ไร่ มีการปลูกข้าว 90% เลี้ยงปลา 90% (ปลูกในพื้นที่เดียวกัน) เลี้ยงกบและปลูกพืชอาหารอื่นๆ ในอีก 10% ที่เหลือ ผลที่ได้คือ ปลาในนาข้าวจะช่วยปราบศัตรูพืช วัชพืชต่างๆ ที่ทำลายต้นข้าวให้เสียหายและกลายเป็นอาหารของปลาในที่สุด ส่วนกลางคืนจะล่อแมลง ศัตรูพืช ให้มาเป็นอาหารของกบสามารถใช้วิธีให้พืชและสัตว์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอาหารปลอดสารพิษ ประหยัด ไม่เปลืองเนื้อที่และที่สำคัญการพัฒนาตรงจุดนี้ ก็เพื่อให้เกษตรกรได้นำความรู้ที่ได้ ไปขยายในพื้นที่ของตัวเองสามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ โดยที่ไม่ต้องไปเป็นเหยื่อนายทุน และไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินใครนั่นเอง”

ผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรปัญญพงษ์ เล่าว่า มีการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รักสุขภาพ นักท่องเที่ยว พบว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก จนผลิตไม่พอขายโดยเฉพาะในช่วงส่งความสุขปีใหม่จากใจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะสามารถนำมาจำหน่ายได้นับแสนบาท ซึ่งสร้างรายได้ สร้างความสุข ความพึงพอใจให้ทุกคน และที่สำคัญผลผลิตเหล่านี้ได้จากพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำที่สร้างขึ้นจากน้ำพระทัยและความรัก ความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อ ชาวนครศรีธรรมราช เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี

ปัญญพงษ์ สงพะโยม ยังได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายในการทำงานชลประทานถึงข้าราชการรุ่นน้องว่าต้องมีความอดทน เเละต้องรักประชาชนให้เหมือนกับครอบครัวของตนเอง


“การทำงานในทุกพื้นที่จะต้องมีความอดทน ใจรักเเละพร้อมรับมือต่อความลำบากที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่สำคัญอย่าทำเพียงเพราะเป็นหน้าที่ แต่ควรทำในสิ่งที่สมควรทำด้วยใจที่ปรารถนาดีมุ่งมั่นด้วยความจริงใจ ติดตามผลจนสำเร็จ ให้สมกับคำที่ว่า ชลประทานเชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ครับ”