ไม่ว่าจะฤดูไหน เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงทั้งแดด ฝน หนาวที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้เกิดภูมิแพ้อากาศได้ ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมจะช่วยลดความทรมานจากการปรับตัวไม่ทัน ทำให้ทุกข์ทรมานจากอาการโรคภูมิแพ้ หายใจลำบากช่วงกลางคืน ช่วงฝนตก นอนไม่พอ ตาบวม ง่วงไปทั้งวัน
ภูมิแพ้อากาศคืออะไร
นพ. จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า ภูมิแพ้อากาศหรือโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง โพรงจมูกอักเสบ และอาการต่าง ๆ ตามมา พบได้ทุกเพศทุกวัย แม้ไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และหากไม่รักษาอาจเป็นโพรงไซนัสอักเสบต่อได้ ทั้งนี้กรรมพันธุ์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นภูมิแพ้อากาศได้
อาการภูมิแพ้อากาศเป็นอย่างไร
อาการภูมิแพ้อากาศสามารถสังเกตได้ดังนี้
• จาม
• คันจมูก คัดจมูก เสียงขึ้นจมูก
• น้ำมูกไหล
• ขยี้จมูกจนเป็นรอยที่สันจมูก
• คันตา แสบตา
• คันหู หูอื้อ เจ็บหูด้านหลัง
• มีเสมหะไหลลงคอ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง
• เลือดกำเดาไหล
ตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศทำอย่างไร
การตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศ แพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามอาการอย่างละเอียด จากนั้นจะทำการตรวจโพรงจมูกเพื่อดูลักษณะการบวม ตรวจดูสีน้ำมูก ตรวจตุ่มแดงในลำคอ ตรวจสีดำคล้ำของขอบตาล่าง รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติ
การ เช่น ทดสอบภูมิแพ้หาสารแพ้ละอองอากาศทางผิวหนัง (Skin prick test to aeroallergen) ตรวจเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ specific IgE เป็นต้น ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
รักษาและป้องกันภูมิแพ้อากาศได้อย่างไร
• หลีกเลี่ยงสารแพ้ละอองอากาศ (ที่ทราบจากจากตรวจข้างต้น)
• หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศ ใส่หน้ากากเวลาออกข้างนอก ใช้เครื่องฟอกอากาศ
• ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อล้างเมือกน้ำมูกต่าง ๆ และสารก่อภูมิแพ้
• ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบต่อเนื่องระยะหนึ่ง และไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมจมูกเฉียบพลันต่อเนื่อง
• รับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ เวลามีอาการ
• ฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ในสิ่งที่ตนเองแพ้ (Allergen specific Immunotherapy) เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อปรับภูมิคุ้มกันให้หายแพ้ การรักษาชนิดนี้เป็นการรักษาต่อเนื่อง โดยต้องมีแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ควบคุมอย่างใกล้ชิด
• ผ่าตัดในกรณีที่มีอาการหนักหรือมีโรคร่วม เช่น ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ ตามที่แพทย์แนะนำ
• ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ
ความรุนแรงของภูมิแพ้อากาศคืออะไร
หากเป็นภูมิแพ้อากาศแล้วมีภาวะแทรกซ้อนอย่างหอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โพรงไซนัสอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หูชั้นกลางอักเสบ ปัญหาการนอนหลับยาก หยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ เพราะฉะนั้นควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด อย่าทิ้งไว้นานเพราะจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่รบกวนการใช้ชีวิต และหากเป็นหอบหืดที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจรุนแรงถึงระบบหายใจล้มเหลวหรือถึงชีวิตได้
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
โรคฝีดาษวานรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชายรักชาย พบสูงขึ้นกว่า 2 เท่าในเดือนเดียว แนะวิธีหลีกเลี่ยง
https://www.thaiquote.org/content/250642
โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการผ่าตัดเสมอไป
https://www.thaiquote.org/content/250593
ท้องผูกเรื้อรัง สัญญาณของร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม ต้นเหตุของโรคลำไส้
https://www.thaiquote.org/content/250644