มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติแนะนำ 5 ขั้นตอนเพื่อสุขภาพกระดูกที่ดีขึ้น

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติแนะนำ 5 ขั้นตอนเพื่อสุขภาพกระดูกที่ดีขึ้น

“กระดูกสันหลังหักหรือสะโพกหักอาจทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการป้องกันโรคกระดูกพรุนแต่แรกจึงสำคัญมาก”- ดร. ฟิลิปป์ อัลบูต์-

 

 

โรคกระดูกพรุนส่งผลกระทบต่อประชากรโลก 500 ล้านคน และเป็นสาเหตุสำคัญของความเจ็บปวด ความพิการ และการสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตัวเองในผู้สูงอายุ โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงและ 1 ใน 5 ของผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีทั่วโลกต่างประสบภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคกระดูกพรุนไม่ทราบว่ากระดูกของตนเองอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกระดูกหักเป็นครั้งแรกเพียงเพราะลื่นหรือล้มจากความสูงเพียงเล็กน้อย หรือบางครั้งเพียงเพราะก้มลงไปผูกเชือกรองเท้า

ดร. ฟิลิปป์ อัลบูต์ (Dr. Philippe Halbout) ซีอีโอของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ กล่าวว่า “กระดูกสันหลังหักหรือสะโพกหักอาจทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการป้องกันโรคกระดูกพรุนแต่แรกจึงสำคัญมาก แม้ว่าส่วนใหญ่ความหนาแน่นของกระดูกจะถูกกำหนดโดยปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ก็มีสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อเสริมสร้างกระดูกของเราให้แข็งแรง ตลอดจนลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักในอนาคต”

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติแนะนำ 5 ขั้นตอนเพื่อสุขภาพกระดูกที่ดีขึ้นและป้องกันโรคกระดูกพรุน

1. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความสมดุล โดยต้องมีแคลเซียม โปรตีน วิตามิน และสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงวิตามินดีที่ร่างกายสร้างได้เองเมื่อผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดและมีอยู่ในอาหารบางจำพวก

2. เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ การออกกำลังกายมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพกระดูก โดยพบว่าภายในหนึ่งสัปดาห์ผู้ใหญ่ที่ติดเตียงจะสูญเสียมวลกระดูกมากกว่าที่สูญเสียไปในหนึ่งปี วิธีที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ตั้งแต่การวิ่งจ็อกกิง เวทเทรนนิง ไปจนถึงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น การเดินหรือการใช้ยางยืดออกกำลังกาย นอกจากนี้ การออกกำลังกายแบบสร้างสมดุลยังช่วยลดความเสี่ยงของการล้มด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ส่วนผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนควรทำตามแผนการออกกำลังกายตามเป้าหมาย เพราะเป็นส่วนสำคัญของการรักษาควบคู่กับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

3. หยุดพฤติกรรมที่ทำลายกระดูก เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

4. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม การมีน้ำหนักน้อยเกินไป (ค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19 kg/m2) ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือคนหนุ่มสาวที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ รวมถึงผู้สูงอายุที่มีความอยากอาหารลดลง

5. การรับรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคลตั้งแต่เนิ่น ๆ คือสิ่งสำคัญ เช่น การเกิดภาวะกระดูกหักเมื่ออายุเกิน 50 ปี ส่วนสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตร (1.5 นิ้ว) และมีพ่อแม่ที่มีประวัติสะโพกหัก เหล่านี้คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญเพียงบางส่วนที่ควรมีการประเมิน และอาจได้รับคำแนะนำให้วัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยเครื่อง DXA Scan เป็นลำดับถัดไป เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่และจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่

ศาสตราจารย์ ไซรัส คูเปอร์ (Cyrus Cooper) ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ กล่าวเสริมว่า “ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนอาจส่งผลกระทบร้ายแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต เราจึงขอเรียกร้องให้ผู้คนทุกวัยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคกระดูกพรุน ปรึกษาเรื่องสุขภาพกระดูกกับแพทย์ และอย่าลังเลที่จะขอรับการประเมินและการดูแลหากคุณมีความเสี่ยง โปรดจำไว้ว่ากระดูกที่แข็งแรงจะช่วยให้คุณไปไหนมาไหนได้และพึ่งพาตัวเองได้เมื่อสูงวัย”.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

รู้ทันโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimers disease)
https://www.thaiquote.org/content/248428

อาหารเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม และอาหารยังสนับสนุนการรักษามะเร็ง
https://www.thaiquote.org/content/248397

ปัญหาฟันผุ…ภัยร้ายที่ถูกมองข้าม ทันตแพทย์ จุฬาฯ เตือนให้รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป
https://www.thaiquote.org/content/248368