กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนรับประทานกินเนื้อวัว ควายสดๆ ดิบ ๆ เสี่ยงโรคพยาธิ เช่น ตืดวัวควาย โรคโปรโตซัวในลำไส้ซาร์โคซิสติส นอกจากนี้มีโรคแบคทีเรียอื่นๆ เช่น โรคแอนแทรกซ์ ซาลโมเนลลา แคมไพโลแบคเตอร์ อีโคไล ฯลฯ แถมท้ายด้วยโรคที่เป็นเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าได้ด้วย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกระแสสังคมบนโลกโซเชียลมีเดีย ได้รีวิวการกินและวิธีการทำที่ชวนให้น่าลิ้มลอง เมนูนิยม ในการรับประทานอาหารประเภทเนื้อวัว-ควายสดๆ อาทิเช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ (อาหารอีสาน) ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) มีการกล่าวอ้างว่าเป็นมรดกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินอันยิ่งใหญ่ระดับโลก อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลเพื่อการเตือนภัยโรค สำหรับคนที่คิดอยากลองหรือคนที่ชอบความหวานของการกินลาบวัว-ควายดิบ ข้อมูลเตือนภัยโรคพยาธิที่พบบ่อย โรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิเรียกว่า เม็ดสาคูในเนื้อ ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว 5-10 เมตร อาจยาว 25 เมตร มี 1,000-2,000 ปล้อง ปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคืบคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน อายุอยู่ในลำไส้คน 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้ คนติดโรคจะมีอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้
นายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคซาร์โคซิสติส มีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร ในวัว-ควายมีอัตราการเป็นโรคสูงมาก สำหรับในคน มีรายงานโดยพบซีสต์ในกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้ออื่นๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากมีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย บวมใต้ผิวหนัง ข้ออักเสบ และเม็ดโลหิตขาวอีโอซิโนฟิลสูง สำหรับเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ เช่น โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร คือ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ย่อมรุนแรงจนถึงแก่ความตายได้ เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มักมีการปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่นๆ เชื้อนี้อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปเจอวัวควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนทำอาหาร ไปจนถึงคนกินดิบๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งถ้าเป็นและมีอาการ ตายอย่างเดียวไม่มียารักษา
ข้อแนะนำประชาชน ให้ใช้หลักมาตรฐานอาหารปลอดภัย ควรจะเลือกซื้อเนื้อวัว-ควายที่ผ่าน การตรวจจากโรงฆ่าสัตว์แล้วเท่านั้น รับประทานอาหารต้ม ปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c นานเกิน 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ปรุง ประกอบอาหาร ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนก่อนปรุง/รับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:
โลกร้อนกำลังคุกคามทะเลไทยเหมือนกับทะเลที่อื่น ๆ ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในทะเล ยากที่จะเยียวยา
https://www.thaiquote.org/content/247772
ที่สวนสัตว์ ZSL ในกรุงลอนดอน ในส่วนสัตว์เลื้อยคลาน หากคุณกำลังตามหา จระเข้สยาม จะพบกับอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยคาด
https://www.thaiquote.org/content/247769
Citi เปิดตัวโซลูชั่นการฝากเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนสำหรับลูกค้าองค์กรและสถาบันในเอเชียแปซิฟิก
https://www.thaiquote.org/content/247766