5 วิธีการออกแบบบ้านในเขตเมือง ป้องกันฝุ่น PM 2.5

5 วิธีการออกแบบบ้านในเขตเมือง ป้องกันฝุ่น PM 2.5

การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญในการรับมือปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี เรามาศึกษากันว่า การออกแบบบ้านในอนาคต ควรยึดหลักอะไรบ้างเพื่อป้องกันวิกฤติฝุ่นได้อย่างยั่งยืน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย เผยแนวทางรับวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ผ่าน 5 แนวทางการออกแบบบ้านเขตเมืองในอนาคต พร้อมแนะภาครัฐผลักดันนโยบายพัฒนาการจัดการเมือง ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หนุนประชาชนปั่นจักรยาน เดิน หรือบริการขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง เพื่อป้องกันวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า แนวคิดการออกแบบบ้านในเขตเมืองรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการเมืองสมัยใหม่ หรือ Urban Management เนื่องจากบ้านเป็นหน่วยที่พักอาศัยที่ใกล้ชิดกับการดำเนินชีวิตประจำวันมากที่สุด พร้อมแนะ 5 แนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกตัวบ้านและการตกแต่งภายในบ้าน คือ

1.ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน

เนื่องจากฝุ่นละอองจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็นปะทะกับอากาศอุ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศปิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น บ้านที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองหนาแน่นจึงควรลดช่องลมหรือเบี่ยงทิศตัวบ้านให้ออกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองภายนอกพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน

การออกแบบงานภูมิทัศน์ หรือการจัดสวนไม้ประดับ ควรเลือกต้นไม้ที่มีลักษณะใบคล้ายใบสน มีใบเล็กแหลมและแน่น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีฝุ่นเป็นจำนวนมาก หากมีพื้นที่บริเวณบ้านควรปลูกหญ้าคลุมพื้นดินแทนการเทปูน และสามารถนำต้นไม้มาประดับตกแต่งผนังแทนการใช้กระเบื้อง การออกแบบงานภูมิทัศน์ นอกจากช่วยในการดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศมากขึ้น

 

3.เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย

การเลือกใช้วัสดุตกแต่งบ้านและการออกแบบบางประเภทอาจทำให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้เหล็กดัดลวดลาย การออกแบบผนังด้วยการเรียงอิฐไม่ฉาบปูน หรือการใช้อิฐโชว์แนว การออกแบบผนังหรือพื้นเป็นปูนพลาสเตอร์ปั้น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น ผ้าม่าน ผ้าขนสัตว์ ผ้ากำมะหยี่ พรม เป็นต้น

4.ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ

การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ แต่จำเป็นต้องทำความสะอาดเครื่องกรองและแผ่นกรองเป็นประจำ เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค และหากมีการใช้พรมเช็ดเท้าและพรมปูในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองภายในบ้าน

5.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน

เนื่องจากพื้นที่ว่างบริเวณหลังตู้และเพดาน เป็นจุดอับที่ยากต่อการทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ดังนั้น จึงควรเลือกขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูงให้พอดีหรือติดกับฝ้าเพดาน หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ผ้าคลุมโต๊ะ ตู้ และวางของบนโต๊ะให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญ เพื่อรับมือปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล งดการเผาสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)