มท.สำรวจแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

มท.สำรวจแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กระทรวงมหาดไทย สำรวจแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ ใช้ทำน้ำอภิเษก พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งน้ำเพื่อเตรียมการทำพิธีตักน้ำ และเตรียมพื้นที่วัดที่จะทำพิธีเสกน้ำ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการเตรียมการในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะการเตรียมพิธีตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ หรือ ทำน้ำอภิเษก และเตรียมการด้านอื่นๆ ว่า ในส่วนของต่างจังหวัดได้เริ่มสำรวจแหล่งน้ำสำคัญทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี จำนวน 107 แหล่งน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้มีการปรับปรุงเรื่องภูมิทัศน์ของแหล่งน้ำ เพื่อเตรียมการทำพิธีตักน้ำ รวมถึงพื้นที่วัดที่จะมีการทำพิธีเสกน้ำ

 

น้ำอภิเษก

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย มีขั้นตอนที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การทรงรับน้ำอภิเษก เพื่อแสดงความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแว่นแคว้นทั้ง ๘ กล่าวคือ หลักการราชาภิเษกนั้น มีรดน้ำ แล้วเถลิงราชาอาสน์เป็นอันเสร็จพิธี นอกนั้นเป็นพระราชพิธีส่วนประกอบ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย

การบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. 2328 นั้น ได้ใช้เป็นแบบอย่างใน รัชกาลต่อ ๆ มา โดยมีการปรับเปลี่ยนในบางรายการตามความเหมาะสมในแต่ละพระองค์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้นำน้ำมาจากแหล่งต่าง ๆ เช่นเดียวกับในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่มีการเปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาตักน้ำบ่อแก้ว และทำพิธีเสกน้ำที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

น้ำที่ใช้ในการทำน้ำอภิเษกในรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย

1.น้ำจากปัญจมหานที ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู (ในประเทศอินเดีย)

2.น้ำจากเบญจสุทธคงคา ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง

3.น้ำจากสระ 4 สระเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

4.น้ำจากมณฑลต่าง ๆ ได้แก่ น้ำที่ทะเลแก้ว สระแก้ว สระสองห้อง เมืองพิษณุโลก, น้ำที่กระพังทอง กระพังเงิน กระพังช้างเผือก กระพังไพยสี โซกชมพู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง จังหวัดสุโขทัย, น้ำในแม่น้ำนครชัยศรี น้ำกลางหาว บนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ จังหวัดนครปฐม, น้ำที่บ่อวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช จังหวัดนครศรีธรรมราช, น้ำบ่อแก้ว จังหวัดน่าน, น้ำบ่อทิพย์ จังหวัดลำพูน, น้ำบ่อวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ส่วนการตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พุทธเจดีย์สถานสำคัญตามภูมิภาค 18 แห่ง เพื่อส่งน้ำมาเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ดังนี้

จังหวัดสระบุรี ตั้งที่พระพุทธบาท

จังหวัดพิษณุโลก ตั้งที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

จังหวัดสุโขทัย ตั้งที่วัดมหาธาตุ อำเภอ สวรรคโลก

จังหวัดนครปฐม ตั้งที่พระปฐมเจดีย์

จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งที่วัดพระมหาธาตุ

จังหวัดลำพูน ตั้งที่พระธาตุหริภุญชัย

จังหวัดนครพนม ตั้งที่พระธาตุพนม

จังหวัดน่าน ตั้งที่พระธาตุแช่แห้ง

จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งที่บึงพระลานชัย

จังหวัดเพชรบุรี ตั้งที่วัดมหาธาตุ

จังหวัดชัยนาท ตั้งที่วัดบรมธาตุ

จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งที่วัดโสธร

จังหวัดนครราชสีมา ตั้งที่วัดพระนารายณ์มหาราช

จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งที่วัดศรีทอง

จังหวัดจันทบุรี ตั้งที่วัดพลับ

จังหวัดปัตตานี ตั้งที่วัดตานีนรสโมสร

จังหวัดภูเก็ต ตั้งที่วัดพระทอง