“วิษณุ” ยันแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา “ยุบสภาเลือกตั้งใหม่” ต้องรอออกกฎหมายลูก

“วิษณุ” ยันแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา “ยุบสภาเลือกตั้งใหม่” ต้องรอออกกฎหมายลูก


วันที่ 10 กันยายน 2563 – นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ว่า เมื่อมีการยืนญัตติแล้ว เป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องมีการตรวจสอบ ก่อนจะบรรจุเข้าสู่สาระหารือในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ โดยข้อบังคับได้กำหนดให้ประธานสภาฯ ต้องบรรจุในระเบียบวาระภายใน 15 วัน

 

สำหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะต้องทำให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่หากใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่มี ส.ส.ร. แต่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน ซึ่งตรงนี้คือระยะเวลาในการร่าง แต่ข้อเท็จจริงจะต้องมีเวลาก่อนหน้านั้น กับระยะเวลาหลัง เช่น ไปเกี่ยวพันกับการทำประชามติ ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญคือ อันดับแรก จะต้องมีการดำเนินการคู่กันไป คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่จะเข้าสู่สภา วันที่ 23-24 กันยายนนี้ ถือเป็นเส้นทางที่ 1 ที่ต้องทำไป

ขณะเดียวกัน สมมติว่าเสร็จในวาระที่ 1 วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งก็คงไม่นาน เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ดำเนินการต่อไปอีก แต่มีอีกเส้นทางหนึ่งที่ต้องทำคู่ขนานคือ การจัดทำกฎหมายประชามติ ซึ่งต่อให้พิจารณารัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 เสร็จแล้ว ก็ต้องรอกฎหมายประชามติก่อน

ทั้งนี้ ร่างประชามติ เบื้องต้น ครม. ได้รับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา และได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยเมื่อเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 พ.ย. ร่างกฎหมายประชามติก็จะเข้าสู่สภาได้ สภาก็จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมกับร่างประชามติ และเป็นการพิจารณาร่วม เพราะร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายปฏิรูป จึงต้องเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา

โดยร่างรัฐธรรนูญจะเสร็จก่อน และต้องรอร่างประชามติ ซึ่งจะแตกต่างจากปกติ ที่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วสามารถนำไปทำประชามติได้เลย ตนคิดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายลงพระปรมาภิไธย เมื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ก็จะมีผลทันที จากนั้น ก็นำเอาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านวาระ 3 มาสู่กระบวนการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม การทำประชามติจะต้องมีการทำภายใน 90-120 วัน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าหากทำก่อน 90 วันจะไม่ทัน เนื่องจากต้องมีขั้นตอนการพิมพ์และนำไปแจกจ่าย

ขณะที่หากมีการตั้ง ส.ส.ร. จาก 200 คน โดยตามร่างกำหนดว่า จะตั้งส.ส.ร. ภายใน 60 วัน ตามร่างของพรรคเพื่อไทย ต้องหา ส.ส.ร. เลือกตั้ง 200 คน แต่ถ้าเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ก็หา ส.ส.ร. เลือกตั้งเพียง 150 คน ส่วนอีก 50 คน อาจจะกำหนดมาจากผู้มีความรู้ความสามารถ จนครบ 200 คน และพอได้ ส.ส.ร. มา ส.ส.ร. จึงจะเริ่มไปร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าตามร่างของพรรคเพื่อไทยก็ต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน แต่ของพรรคร่วมรัฐบาล 8 เดือน

ส่วนจะนำไปสู่การทำประชามติอีกรั้งนั้น เป็นไปตามร่างของพรรคเพื่อไทย แต่หากเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ให้นำเข้ามาสภา ถ้าสภาลงมติเห็นชอบเกินครึ่ง ก็ข้ามการทำประชามติไปเลย แต่หากไม่ถึงครึ่ง ต้องเอาไปทำประชามติใน 60 วัน แต่ส่วนตัวคิดว่า สภาน่าจะเห็นชอบได้ เมื่อเสร็จแล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 1 เดือน ทั้งร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 90 วัน โดยถือว่าได้รัฐธรรมนูญใหม่

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยังได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้ว การยุบสภาเลือกตั้งใหม่อาจยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะหากเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่เหมือนฉบับเก่า เช่น เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งใหม่ใช้บัตรใบเดียวหรือ 2 ใบ การเปลี่ยนกระบวนการเลือกวุฒิสมาชิกที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง จำเป็นเป็นต้องมีกฎหมายลูกฉบับใหม่รองรับ ไม่สามารถใช้กฎหมายลูกเดิมได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องร่างกฎหมายลูกใหม่อย่างน้อย 3-4 ฉบับ คือ

1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

3.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรืออาจมากกว่านี้

ดังนั้นถ้าจะยุบสภาอย่างที่เรียกร้องกัน เมื่อมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ใหม่แล้ว ก็จะไม่มีกติกาในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และอาจไม่มีวุฒิสภาด้วย แต่ยังมีวิธีแก้ ซึ่งอาจต้องให้ ส.ส.ร. 200 คนเป็นผู้คิดวิธีแก้

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“คราฟต์เบียร์” ขู่รัฐ ร่วมม็อบ 19 ก.ย. หลังประกาศห้ามขายเหล้าผ่านออนไลน์