นิสิตจุฬา ยกย่องการต่อสู้ “ณัฐวุฒิ-คนเสื้อแดง” เสียงไชโยลั่น อ่านบทกวี “เสียงจากดินถึงฟ้า” ที่แกนนำ นปช.เคยปราศรัยไว้เมื่อปี 2551
จากกรณีเมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพ กลุ่ม ‘Spring Movement’ นัดหมายจัดกิจกรรม ‘เสาหลักจะหักเผด็จการ’ เวลา 16.00 น. บริเวณลานพระบรมรูป 2 รัชกาล ต่อมา เวลาตั้งแต่ 15.30 น. กระทั่ง 16.15 น. ฝนตกลงมาอย่างหนัก
โดยผู้จัดประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าอยู่ระหว่างการประสานงานหาสถานที่ร่มจัดกิจกรรม โดยใช้บริเวณโถงชั้นล่างของอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงเวลาหนึ่งของเวที นิสิตชาย ตัวแทนกลุ่ม ‘สปริง มูฟเม้นต์’ ปราศรัยว่า 7 ปีก่อน มีการรวมตัวไปเวที กปปส. นายกสภาฯ จุฬาฯ กล่าวขอบคุณจุฬาฯ ที่รักษาประชาธิปไตย ยืนเคียงข้างความถูกต้อง เมื่อวันก่อนผู้บริหารบอกว่า จุฬาฯ จะปกป้องนิสิตในการแสดงออกทางการเมือง
แต่วันนี้กลับไม่ให้จัดกิจกรรม บอกว่ากระชั้นชิดเกินไป ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ตนขอสื่อสารไปยังผู้บริหารว่า จุฬาฯ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่สถานที่ซึ่งคนจะถือครองแจกจ่ายให้ใครมาเอาผลประโยชน์ จุฬาฯ ควรเปิดรับความเห็นต่าง ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงเพื่อหาทางออกในสังคม
จากนั้นผู้ชุมนุมร่วมกันชูสามนิ้ว พร้อมตะโกนว่า “หยุดคุกคามประชาชน”
ผู้ปราศรัยได้กล่าวถึง จิตร ภูมิศักดิ์ อ่านเนื้อเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา “เราลำบากไม่ถึงครึ่งของคุณจิตร” พร้อมระบุว่า “เราอย่าลืมเรียกร้องให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ด้วย เราไม่ใช่แค่นิสิต แต่เราคือประชาชน”
ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. ผู้ปราศรัยตัวแทนจากกลุ่ม ‘Spring Movement’ พูดเรื่องบทบาทของสถาบันการศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยระบุว่าสิ่งที่จุฬาฯ กำลังทำ คือสิ่งที่ปิดกั้นไม่ให้เราแสดงออก หลังจากทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมให้นิสิตใช้พื้นที่จัดกิจกรรม
“ภารกิจหลักของจุฬาฯ คือตลาดวิชา เป็นเวทีที่นำความรู้คู่ประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดี แต่วันนี้กลับปิดกั้น ยับยั้ง กดดันให้ออกไปชุมนุมนอกมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่ปราการสุดท้ายที่ปลอดภัย โดยอ้างว่า กิจกรรมต้องวิชาการ ซึ่งจริงๆแล้ววิชาการต้องเชื่อมโยงสังคมจึงจะถูกต้อง”
ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่ม ‘สปริง มูฟเม้นต์’ กล่าว จากนั้น มีการกล่าวยกย่องการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง โดยผู้ชุมนุมต่างพากันปรบมือให้คนเสื้อแดงที่ส่วนหนึ่งยังถูกจำคุกในเรือนจำ ทั้งยังอ่านคำปราศรัย “เสียงจากดินถึงฟ้า” ของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่เคยปราศรัยเมื่อปลายปี 2551 และคำปราศรัยดังกล่าว ก็ได้เคยถูกยกย่องว่าหนึ่งในคำปราศรัยทางการเมืองที่ดีที่สุด ในทศวรรษนี้ โดย นศ.คนดังกล่าว ปราศรัยว่า
“สถานการณ์ที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ สะท้อนไปถึงการเมืองภาพใหญ่ในสังคม ทำให้ผมนึกถึงคำปราศรัยของแกนนำท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นขบวนการภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุดและถูกตีตราจากสังคมมากที่สุด ขณะนี้แกนนำท่านนั้นอยู่ในคุก ผมขอปรบมือให้กับวีรกรรมของพี่น้องเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย” จากนั้นผู้ชุมนุมปรบมือเสียงดัง ผู้ปราศรัยเริ่มอ่านบทกวี ‘จากดินถึงฟ้า’ ของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ด้วยเสียงกึกก้อง
“…เราเกิดบนผืนแผ่นดิน เราโตบนผืนแผ่นดิน เราก้าวเดินบนผืนแผ่นดิน เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า เมื่อเรายืนอยู่บนดิน ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า ฟ้าอยู่ไกล เมื่อเราอยู่บนดิน แล้วก้มหน้าลงมา เราจึงรู้ว่า เรามีค่าเพียงดิน
แต่ผมแน่ใจว่า ด้วยพลังของประชาชนที่จะมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทุกนาที ทุกนาที แม้เรายืนอยู่บนผืนดิน แม้เราพูดอยู่บนผืนดิน แต่จะได้ยินถึงท้องฟ้า แน่นอน! เสียงไชโยโห่ร้องของเราในยามนี้ จากคนที่มีค่าเพียงดิน จากคนที่เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดิน จะได้ยินถึงท้องฟ้า แน่นอน!…”
“ประชาชนจะบอกดิน บอกฟ้าว่า คนอย่างข้าก็มีหัวใจ! ประชาชนจะบอกดิน บอกฟ้าว่า ข้าก็คือคนไทย! ประชาชนจะถามดิน ถามฟ้าว่า ถ้าไม่มีที่ยืนที่สมคุณค่าจะให้ข้าหาที่ยืนเองหรืออย่างไร!”
หลังจากนั้น อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ หรือ อลิซ ว่าที่บัณฑิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปราศรัยเรื่องไม่รับปริญญา ในฐานะการทำอารยะขัดขืนที่ไม่ผิดกฏหมาย โดยระบุว่า “เรายินดีที่จะรับปริญญาจากอาจารย์ที่สอนเรามา” และยังกล่าวด้วยว่า “สิ่งที่เรากำลังรณรงค์อยู่ คือการไม่เข้ารับปริญญาจากใครมากกว่า”
ข่าวที่น่าสนใจ